Customer Voice

เป็นการผ่าตัดที่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ หัวใจของเราจะอยู่ได้ถึง 100 ปี

Share:

การอยู่กับความเคยชิน บางครั้งอาจทำให้เราประมาทหรือคำว่า “ไม่เป็นไรหรอก” อาจทำให้เราพลาดได้ แม้จะมั่นใจขนาดไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่คนเรา มักจะลืมง่ายที่สุดแต่ใกล้ตัวที่สุด นั่นคือ เรื่องสุขภาพของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้นายแพทย์ทวีศักดิ์ โชติวัฒนพงษ์ ได้เรียนรู้ผ่านชีวิตคนไข้หลายๆ คน ที่ทำให้ต้องเตือน ตัวเองอยู่เสมอถึงความไม่ประมาทแม้จะเป็นหมอก็ตาม

นายแพทย์ทวีศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างกรณีคนไข้รายหนึ่ง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนที่คิดว่ารู้จักร่างกายตัวเองดีที่สุด แต่ก็เกือบพลาดจนได้ “กรณีนี้เธอเป็นพยาบาลวิชาชีพมานาน เป็นระดับ หัวหน้าพยาบาล โดยบุคลิกเป็นคนแอคทีฟ แข็งแรง กระตือรือร้นเมื่อหลายปีก่อนแม้จะตรวจสุขภาพพบความผิดปกติที่หัวใจ แต่ด้วยความที่ร่างกายยังแข็งแรงดี ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ จึง ชะล่าใจไม่คิดว่าจะรุนแรง แต่ในท้ายที่สุดสิ่งที่ทำให้มาพบแพทย์นั้น เพราะร่างกายเริ่มฟ้อง เมื่อประมาณ 3-4 เดือนก่อน เวลาไปเที่ยวเริ่มรู้สึกไม่สดใส เวลาเดินเล่นยังรู้สึกเหนื่อยมากกว่าเพื่อน จนรู้สึกผิดปกติ หากเปรียบเหมือนเครื่องยนต์ จะรู้สึกเครื่องตื้อๆเร่งเครื่องไม่ขึ้น เดินไม่ทันเพื่อนคนอื่น อาการไม่ชัดเจนมาก แต่สามารถจับความผิดปกติได้ หลังจากตรวจดูแล้วพบว่า ลักษณะ โรคลิ้นหัวใจรั่วที่เป็น เป็นกรณีที่ซีเรียสมาก และบอกได้เลยว่ากรณีแบบนี้ในสมัยก่อนไม่มีทางซ่อมได้สำเร็จ ต้องเปลี่ยนเป็นลิ้นหัวใจเทียมเท่านั้น” คนไข้รายนี้ถือว่าโชคดีเพราะด้วยอาชีพ ทำให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดได้

เจ้าของเรื่องคือ คุณแดง สาวิตรี สุขทิศ

ผู้ซึ่งยินดีที่จะให้เรื่องราวของตนได้เป็นอุทาหรณ์ต่อผู้อื่น ที่มั่นใจในสุขภาพของตัวเอง แม้ว่าเธอจะเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการแพทย์มานาน ใช้เวลาทำงานในโรงพยาบาลมากกว่า 10 ชั่วโมง ต่อวัน ใกล้หมอ แต่ถึงกระนั้นก็ยังเกือบทำให้ชีวิตของเธอสั้นลงด้วยความที่คิดว่า “ไม่เป็นไรหรอก ร่างกายของฉันก็ยังแข็งแรงดี” ซึ่งความคิดแบบนี้ทำให้ต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยยอมขึ้นเตียง ให้ศัลยแพทย์หัวใจผ่าเปิดหัวใจออกมาซ่อม ก่อนที่มันจะพังจนสายเกินไป

เมื่อปี 2008 คุณแดงพบสัญญาณแรกที่บ่งบอกอาการลิ้นหัวใจรั่วโดยเล่าว่า “จากการตรวจสุขภาพประจำปี พอรู้ว่าหัวใจตัวเองมีเสียงเมอร์เมอร์ (Murmur) จึงได้รับการตรวจอย่างละเอียดโดยการทำ Echo และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบว่ามีอาการลิ้นหัวใจรั่วเล็กน้อย และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย แพทย์ให้ระมัดระวังเฝ้าสังเกตอาการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เหนื่อยหอบง่าย ขาบวม มีรอยฟกช้ำ หรือเขียวบริเวณร่างกาย ซึ่งหากเกิดอาการลักษณะนี้จะต้องรีบทำการผ่าตัดโดยทันที”

โดยปกติแล้วคุณแดงเป็นคนที่มีบุคลิกกระตือรือร้น ดูสุขภาพแข็งแรง ลุย ไปไหนไปกัน รักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ หลังจากที่รู้ว่ามีลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อย จึงพยายามสังเกตอาการมาโดยตลอด แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เธอมีทริปท่องเที่ยวบ่อย อาจไม่ค่อยได้ดูแลร่างกาย และควบคุมอาหารเท่าที่ควร ซึ่งการทำกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อนก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใดต่อมาในปี 2013 คุณแดงได้เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีตามปกติ พบว่าค่าไขมันและคอเรสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก รวมถึงผลเลือดค่อนข้างไม่ดี เป็นที่น่าตกใจ แพทย์ที่ดูแลคุณแดงมาตลอดได้แนะนำให้ตรวจร่างกายครั้งใหญ่แบบละเอียดอีกครั้ง ที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี ผลจากการส่องกล้องหลังหัวใจ พบว่าลิ้นหัวใจรั่วมากขึ้นกว่าเดิม และมีเลือดรั่วไหลย้อนแพทย์จึงแนะนำให้คุณแดงผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจในครั้งนั้น

นายแพทย์ทวีศักดิ์ ในฐานะผู้ทำการผ่าตัด กล่าวถึงกรณีของคุณแดงว่า “ในอดีตหากลิ้นหัวใจรั่วขนาดนี้แต่ยังไม่มีอาการ หมอจะพยายามเก็บไว้ ยื้อไว้ให้นานที่สุด ประคับประคองโดยการให้ยา จนกว่าคนไข้จะมีอาการแสดงว่าเหนื่อยมาก ซึ่งมักจะลงเอยด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ แต่การทำแบบนี้ หัวใจคนไข้จะล้ามาก และการผ่าตัด ณ ตอนที่หัวใจเหนื่อยมากแล้วกราฟอายุขัยของคุณแดงจะตกลงมาไม่เท่ากับคนปกติ ซึ่งหากได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ หมายความว่าคนไข้จะต้องกินยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต ผลกระทบที่ตามมาคือ อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการกินยา รวมถึงการอุดตันของลิ้นหัวใจเทียม แต่หากจะเปลี่ยนเป็นลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ก็จะทำให้ลิ้นหัวใจเสื่อมง่ายกว่าปกติ ผมยอมรับว่าตำแหน่งที่เกิดปัญหานี้เป็นตำแหน่งที่ยากมาก แต่เนื่องจากเรามีเทคนิคในการซ่อมลิ้นหัวใจที่ได้พัฒนาขึ้นมา และทำจนเกิดความชำนาญ ทำให้การตัดสินใจของคุณหมอในการส่งคนไข้มาผ่าตัดกับเราเร็วขึ้น คนไข้จึงได้รับการผ่าตัดเร็วในขณะที่หัวใจยังไม่บอบช้ำมาก มีผลทำให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น โอกาสที่อายุขัยยืนยาวเท่ากับคนปกติจึงมีมากขึ้นด้วย” นายแพทย์ทวีศักดิ์กล่าว

ด้านคุณแดงเล่าถึงการผ่าตัดอย่างคนที่รู้ตัวว่าจะต้องเจอกับอะไร “แพทย์ต้องทำการเปิดช่องอกเหมือนการแหวกหน้าอกและกระดูกหน้าอกของเรา เพื่อนำหัวใจออกมาซ่อม ซึ่งหัวใจจะต้องหยุดเต้นในขณะที่ผ่าตัด และใช้หัวใจเทียมทำงานแทนชั่วคราวระหว่างการผ่าตัด ถ้าพูดแบบนี้เหมือนน่ากลัวนะแต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ต้องเตรียมก็คือ “ใจ” เตรียมใจอย่างเดียวเรารู้ตัวว่าเราต้องเจ็บ ต้องพักฟื้น การรักษาให้กระดูกหน้าอกติดกัน ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ถึงจะเข้าที่ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราเจ็บตอนนี้ตอนที่ร่างกายแข็งแรงมีความพร้อมสามารถฟื้นตัวได้เร็ว นอนโรงพยาบาลสั้นลงและค่าใช้จ่ายก็น้อยลงด้วย เป็นการป้องกันไม่ให้อาการหนักกำเริบขึ้นมาดีกว่าที่จะไปผ่าตัดตอนอายุมากขึ้น มีอาการลิ้นหัวใจรั่วมากขึ้นผลอาจไม่ดีเท่านี้” ทีมแพทย์ใช้เวลา 4 ชั่วโมง ในการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจของคุณแดง ซึ่งเธอฟื้นตัวได้เร็ว ในวันที่ 4 สามารถลุกเดินได้เเล้ว ผลหลังผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ

“เป็นการผ่าตัดที่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ หัวใจของเราจะอยู่ได้ถึง 100 ปี”

คุณแดงกล่าวถึงความรู้สึกหลังเข้ารับการผ่าตัดอย่างไรก็ตาม เธอได้ฝากถึงคนที่ร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่ว่า “แม้ว่าเราจะมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีอาการบ่งบอกถึงความผิดปกติ แต่ก็ควรตรวจสุขภาพ เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติอยู่ข้างในร่างกายที่เราไม่รู้ ถ้าเราละเลยจนเป็นมาก การรักษาอาจจะ ทำได้ยากขึ้น ร่างกายอาจไม่แข็งแรงเท่าเดิม อายุมากขึ้นก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ที่สำคัญอย่ายึดติดกับความเชื่อผิดๆ จนไม่กล้าที่จะทำตามคำแนะนำของแพทย์ กลัวว่าผ่าแล้วร่างกาย จะพังไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม หากเสียแล้วไม่ซ่อมสิ ร่างกายจะพังแน่นอน” ข้อคิดจากอดีตผู้ป่วย คุณแดง สาวิตรี สุขทิศ พยาบาลวิชาชีพ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์หัวใจ ชั้น 5 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300, 5301

  • Readers Rating
  • Rated 4 stars
    4 / 5 (19 )
  • Your Rating