บทความสุขภาพ

เมื่อหนูน้อยต้องรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่

Share:

คุณพ่อคุณแม่คงคุ้นเคยกับโรคไข้หวัดใหญ่นี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ แล้ว คงไม่จำเป็นต้องกล่าวนำอะไรมาก แต่สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ ต้องการให้ทำความเข้าใจถึงโรค การแพร่กระจายของโรค การหลีกเลี่ยงป้องกันการติดโรคและการแพร่เชื้อให้ได้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น

สาเหตุ

เชื้อ Influenza virus หรือเรียกสั้น ๆ ว่า FLV มี 2 สายพันธุ์ คือ A&B สายพันธุ์ A ยังมีสายพันธุ์ย่อย ๆ (Subtype) อีกมาก จึงเป็นที่มาของการแพร่กระจายเชื้อที่ต่างกันในแต่ละปี และเป็นเหตุให้เราต้องฉีดวัคซีนตามสายพันธุ์ย่อยที่เปลี่ยนไปในทุก ๆ ปีด้วย

อาการ

ที่สำคัญคือ โรคทางเดินหายใจ คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูก จนถึงหอบเหนื่อยจากปอดอักเสบ

  • นอกจากนั้น คือปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ต่างจากหวัดธรรมดา (Common Cold) คือ รุนแรงกว่า ไข้สูงกว่า โรคแทรกซ้อนมากกว่า จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนสูงอายุ (เกินที่ 65 ปี), เด็กเล็ก ๆ, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจ ไต เบาหวาน หอบหืด ปอดเรื้อรัง เป็นต้น
  • โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ ไซนัส หูชั้นกลางอักเสบ และทำให้อาการโรคที่มีอยู่เดิมกำเริบขึ้น เช่น หัวใจวาย หอบหืดรุนแรง เป็นตัน

การแพร่กระจาย

โดยเฉพาะเสมหะ น้ำมูก ไอ จาม ในรัศมี 6 ฟุต จากตัวผู้ป่วย การจับต้องสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรค แล้วเอามือเข้าปาก จมูก เชื้อไวรัสนี้สามารถมีชีวิตอยู่บนสิ่งของได้นาน 2 – 8 ชั่วโมง

ระยะติดต่อ

ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วัน ก่อนป่วย (ก่อนมีไข้ หรือไอจาม) จนถึง 5 – 7 วัน หลังป่วย (ในเด็กอาจแพร่ได้นานกว่า 7 วันหลังป่วยได้) แต่บางคนได้รับเชื้อแล้วไม่มีอาการ แต่ก็อาจจะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ จึงยังต้องระวังการติดเชื้อจากบุคคลที่อยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยแต่ไม่แสดงอาการด้วย

ระยะเพาะเชื้อ

หมายถึง ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนเกิดอาการ คือ 1 – 4 วัน

การป้องกัน

ผู้ป่วย ผู้รับเชื้อ
1.ควรอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงไม่ไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หลังจากหายไข้แล้ว (โดยไม่ต้องกินยาลดไข้) 1.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยในรัศมี 6 ฟุต การสวมหน้ากากอาจป้องกันจากการติดเชื้อไม่ได้ดีเท่าที่ควร
2.ปิดปาก จมูก เวลาไอ จาม 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับวัตถุสิ่งของ ของผู้ป่วยที่อาจมีเชื้อโรคติดอยู่
3.ล้างมือด้วยสบู่ น้ำ หรือ แอลกอฮอล์เจลที่ใช้เช็ดมือ 3.ล้างมือด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์ เจล บ่อย ๆ
4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก ปากแล้วมาจับสิ่งของ

วัคซีน

ให้ได้ในเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หากให้ได้ผลควรฉีดทุกปี เพราะในแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์และภูมิต้านทานจะลดลงหลังฉีด 1 ปี หรือแม้แต่การติดเชื้อในธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป ภูมิต้านทานก็จะลดลงได้

การฉีดวัคซีนจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์ จึงจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้

พญ.ศุภรัตนา คุณานุสนธิ์
กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Super Kid’s Centerชั้น 3
โทร.027340000 ต่อ 3310, 3312, 3319