บทความสุขภาพ

“การผ่าตัดแต่งแนวกระดูกหน้าแข้งส่วนบน” อีกทางเลือกของการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

Share:

ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของโรค และด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวไกล จึงมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด (Computer assisted surgery- CAS) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากขึ้น

นพ.เจริญวัฒน์ อุทัยจรัสรัศมี ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม (TJR Center ) โรงพยาบาลเวชธานีได้ให้ข้อมูลว่า การใช้ระบบคอมพิวเตอร์นำวิถี ( Navigation assisted surgery) เข้ามาช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมในปัจจุบัน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและใช้กันมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นซอฟต์แวร์ (Software) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ กับการผ่าตัดอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีมานานแล้ว นั่นก็คือ การผ่าตัดแต่งแนวกระดูกหน้าแข้งส่วนบน (High tibial osteotomy – HTO) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มต้น ที่ข้อเข่ายังโก่งไม่มาก แต่ได้รับการรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดรักษาโรคดังกล่าวจะใช้กับผู้ป่วยมีอายุไม่มากซึ่งมีอายุน้อยกว่า 60 ปี (< 60 ปี) แต่มีสุขภาพแข็งแรงดี และยังสามารถทำกิจวัตรประวันได้อยู่บ้าง (high demand activity) “การผ่าตัดแต่งแนวกระดูกหน้าแข้งส่วนบน (High tibial osteotomy – HTO) ไม่ใช่การผ่าตัดรูปแบบใหม่ แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเสียอีก โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับแนวการลงน้ำหนักของขาให้กลับมาใกล้เคียงภาวะปกติ โดยหวังที่จะให้เกิดการชะลอความเสื่อมของข้อเข่าส่วนที่มีความเสื่อมนั้นให้นานออกไป และลดการได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมก่อนเวลาอันควร”

ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผ่าตัด HTO(High tibial osteotomy)

  1. ลดขั้นตอนการวางแผนการผ่าตัดที่ยุ่งยากและเสียเวลา
  2. ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์สามารถทดลองทำการปรับแนวการลงน้ำหนักของขาได้ตามที่ต้องการ และเห็นผลที่เกิดขึ้นแบบ real time
  3. เพิ่มความถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้งช่วยลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการผ่าตัด
  4. ลดระยะเวลาที่ต้องสัมผัสกับรังสี จากการใช้ C-arm หรือ Fluoroscopy ในห้องผ่าตัด

ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าว ไม่ได้ยุ่งยากหรือสลับซับซ้อน โดยในวันที่ 2 หลังการผ่าตัดแพทย์จะเริ่มให้ผู้ป่วยฝึกบริหารโดยการงอและเหยียดหัวเข่าที่ได้รับการผ่าตัดข้างเตียง พอวันที่ 3 แพทย์จะฝึกให้ผู้ป่วยยืนทรงตัว และการเดินลงน้ำหนักบางส่วน ประมาณ 50%บนขาที่ได้รับการผ่าตัดโดยการใช้อุปกรณ์พยุงหรือช่วยการเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน หรือ walker เป็นต้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องเดินด้วยวิธีดังกล่าวประมาณ 8 – 12 สัปดาห์ เพื่อรอให้กระดูกที่ได้รับการตัดแต่งนั้นสมานกันดีเสียก่อน จึงจะลงน้ำหนักได้ 100%

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดวิธีนี้ ไม่ได้เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทุกราย แพทย์จำเป็นต้องเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลการผ่าตัดที่ดี บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ( BW> 80 kg หรือ BMI > 35 kg/m2) ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะท้ายๆ หรือมีความเสื่อมเกิดขึ้นในทุกส่วนของหัวเข่าแล้ว ข้อเข่าที่แข็งติดงอก็ไม่เข้า เหยียดก็ไม่สุด ข้อเข่าเสื่อมที่โก่งหรือเกมากจนเกินไป รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอายุมาก หรือไม่ค่อยมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากเท่าไหร่ (low demand activity) เป็นต้น สมควรที่จะเลือกใช้การผ่าตัดรักษาด้วยวิธีการอื่นต่อไป

ในอดีตการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวางแผนก่อนทำการผ่าตัดหลากหลายขั้นตอน ซึ่งยุ่งยากและเสียเวลา อีกทั้งในระหว่างผ่าตัดยังมีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการวัดมุมต่าง ๆ ได้ยาก ทำให้ผลการผ่าตัดอาจจะไม่ได้ตามที่ต้องการ รวมถึงการที่แพทย์และบุคคลากรในห้องผ่าตัดต้องสัมผัสกับรังสีที่เกิดจากการใช้ C arm หรือ Fluoroscopy เพื่อการดูภาพเอกซเรย์การตัดแต่งแนวกระดูกอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานาน ปัญหาต่างๆเหล่านี้จะลดลงเมื่อมีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการผ่าตัด ( Navigation assisted high tibial osteotomy : NAV-HTO)

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้บริการโรงพยาบาลเวชธานี สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-123-4000 หรือเวบไซต์ http://goo.gl/D9jAiv หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/Vejthani.Hospital

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (1 )
  • Your Rating