บทความสุขภาพ

ALS โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงภัยร้ายที่คร่าชีวิต

Share:

ช่วงนี้หากใครไม่รู้จักไอซ์บัคเก็ตชาเลนจ์ (Ice Bucket Challenge) แคมเปญการกุศลเพื่อสมาคมผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS สำหรับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายคนอาจจะยังสงสัยว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงคืออะไรและใครบ้างที่จะเป็นโรคดังกล่าวได้ วันนี้ นพ.นริศ สมิตาสิน อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงโรคดังกล่าวว่า ALS (Amyotrophic lateral sclerosis) หรือที่รู้จักในชื่อ Lou Gehrig’s disease เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาททั้งในสมอง และไขสันหลัง ซึ่ง ALS เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคการเสื่อมของเซลล์ประสาท (Motor neuron disease : MND) โดยสาเหตุของโรคนั้น ยังไม่มีทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมารองรับชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจเป็นมาจากการทำงานภายในระดับเซลล์ที่บกพร่อง หรือเป็นจากการผิดปกติตั้งแต่ระดับพันธุกรรม ส่งผลให้มีการเสื่อมหรือตายลงของเซลล์ประสาท

“สำหรับการแสงดอาการของโรคนั้น จะประกอบด้วย อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อซึ่งอาการดังกล่าวจะเป็นไปตามเซลล์ประสาทที่เสื่อมลง เช่น กล้ามเนื้อแขน ขา กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน หรือแม้กระทั่งกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเปล่งเสียง นอกจากการอ่อนแรงแล้ว ผู้ป่วยจะมีกล้ามเนื้อเต้นพลิ้วสังเกตได้ที่บริเวณต้นแขน ขา หรือใบหน้า จะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและบริเวณที่กล้ามเนื้อเริ่มมีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะเริ่มลีบเล็ก ในส่วนของรายที่เป็นมากจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกระบังลม ทำให้มีอาการเหนื่อย และหายใจได้ลำบากซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด”

นพ.นริศ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วย ALS สามารถพบได้ทั้งชายและหญิง ซึ่งมักพบในเพศชายมากกว่า และผู้ป่วยมักจะมีอายุมาก โดยกลุ่มอายุที่มักพบมักจะมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แต่ในกลุ่มโรคที่เป็นจากพันธุกรรม อาจจะพบในอายุน้อยได้ การดำเนินโรคมักจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลังจากที่พบว่าคนไข้เข้าเกณฑ์ ในการวินิจฉัยว่าเป็น ALS แล้ว มักจะเสียชีวิตภายใน 2 ปี

ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคนี้ประกอบด้วยอาการข้างต้นร่วมกับการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยของเส้นประสาทและกล้มเนื้อ รวมถึงการตรวจ MRI ของสมองและไขสันหลัง เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ดำเนินโรคคล้าย ALSในบางรายมีสาเหตุอื่นของการเสื่อมของเซลล์ประสาท เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองตีบหลายๆตำแหน่ง หรือผู้ป่วยที่มีหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทหลายตำแหน่งซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดหรือการให้ยาป้องกันได้

ALS ยังคงเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา การผ่าตัด หรือการฉีด stem cell มีเพียงยาที่อาจจะชะลอการดำเนินของโรคได้ แต่ผู้ป่วยก็จะยังคงมีการเสื่อมของเซลล์ประสาทต่อไปเรื่อย ๆ การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัด การดูแลเรื่องการให้อาหารและระมัดระวังผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการอ่อนลงของกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะปอดติดเชื้อ ภาวะทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ภาวะแผลกดทับ นอกจากนี้ผู้ป่วย ALS จะมีภาวะซึมเศร้า การดูแลจึงต้องอาศัยครอบครัวของผู้ป่วยและคนรอบข้างเพื่อประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยกลุ่มนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 5400

  • Readers Rating
  • Rated 4.4 stars
    4.4 / 5 (5 )
  • Your Rating