บทความสุขภาพ

รู้ก่อนปลอดภัย จาก ไวรัสตับอักเสบ

Share:

รู้จักไวรัสตับอักเสบ(HEPATITIS VIRUS)

ไวรัสตับอักเสบปัจจุบันมี 5 ชนิดคือ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี และอี ซึ่งไวรัสตับอักเสบที่พบบ่อย คือไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี และซี ส่วนไวรัสตับอักเสบชนิดดีและอีพบได้น้อย โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบส่วนใหญ่มีอาการ 2 ลักษณะคือ

ติดเชื้อแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีผื่น ปวดข้อ ร่วมด้วย ต่อมาไข้จะลดลง ผู้ป่วยจึงเริ่มมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ติดเชื้อแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ หรืออาจมีอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น เหนื่อย อ่อนเพลียเล็กน้อย ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมานานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งมักพบในระยะท้ายของโรค การตรวจเลือดสามารถบอกเชื้อก่อโรคได้ โดยเชื้อที่ก่อให้เกิดไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิด บี ซี และดี

ไวรัสตับอักเสบเอ (HEPATITIS A VIRUS)

ไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนไวรัส มีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 6 สัปดาห์ การติดเชื้อในเด็กส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่ในผู้ใหญ่จะมีอาการแสดงของตับอักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงและชัดเจนกว่า โดยจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอจะไม่กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง

ไวรัสตับอักเสบบี (HEPATITIS B VIRUS)

ไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ ข้อมูลจากมูลนิธิโรคตับระบุว่า พบผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีทั่วโลก ประมาณ 350-400 ล้านคน ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบบีสูง

การติดต่อของไวรัสตับอักเสบบี

  • ไม่ติดต่อผ่านการรับประทานอาหาร น้ำลาย หรือการสัมผัส แต่สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ
  • เลือดและส่วนประกอบของเลือด เช่น การฉีดยาเข้าเส้น การสักลาย เจาะหู การใช้ของมีคมร่วมกัน
  • การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
  • ติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การรักษา

ผู้ป่วยที่เป็นระยะเฉียบพลันอาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังภาวะตับวายฉับพลัน แต่ในรายที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นพาหะของโรค มียาที่ใช้รักษาทั้งที่เป็นยาฉีดและยากินหลายชนิด โดยยาจะช่วยลดจำนวนไวรัส ทำให้การอักเสบของตับลดลง ช่วยลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้

ไวรัสตับอักเสบซี (HEPATITIS C VIRUS)

เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ สามารถติดต่อได้เหมือนกับไวรัสตับอักเสบบี ปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยจากข้อมูลการบริจาคเลือด พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร้อยละ 1-2 ของประชากร ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ตรวจพบได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น ซึ่งร้อยละ 50-90 จะกลายเป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง และในที่สุดถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด

การรักษา

ไวรัสตับอักเสบซีรักษาด้วยการฉีดยาสัปดาห์ละ 1 เข็ม ร่วมกับการรับประทานยาทุกวัน เป็นเวลา 24-48 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ ซึ่งมีถึง 6 ชนิด ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมีโอกาสหายขาดจากโรคได้มากกว่าไวรัสตับอักเสบบี ดังนั้นเมื่อรู้ว่าได้รับเชื้อควรรีบพบแพทย์

แนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ

  • งดดื่มสุราและสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์ว่ายาชนิดนั้นมีผลต่อตับหรือไม่
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาสมุนไพร
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดออกกำลังกายหักโหม
  • ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังตับแข็งและมะเร็งตับ
  • แนะนำให้ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด สามีภรรยา ตรวจหาการติดเชื้อไวรัส และรับวัคซีนป้องกัน
  • ระมัดระวังการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
  • กรณีมีข้อบ่งชี้ให้รับการรักษา ควรรักษาอย่างต่อเนื่อง

ไวรัสตับอักเสบเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงภัยเพียงพอ ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ด้วยอาการในระยะท้ายของโรคแล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพราะภาวะตับแข็งและมะเร็งตับจำนวนมาก ดังนั้น หากยังไม่ได้รับเชื้อและไม่มีภูมิต้านทานควรรับวัคซีนป้องกัน ส่วนผู้ที่ได้รับเชื้อแล้ว ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังการลุกลามของโรคต่อไป…

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating