ไตวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่ไตเสื่อมสภาพและสูญเสียการทำงานอย่างฉับพลันภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดของเสียและรักษาสมดุลของเกลือแร่ในเลือดได้ตามปกติ


สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน
ไตวายเฉียบพลัน คือภาวะที่ไตหยุดทำงานอย่างกะทันหัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน ได้แก่
ความดันโลหิตผิดปกติ
ความดันโลหิตที่ผิดปกติ ทั้งความดันต่ำหรือความดันสูงเกินไป ล้วนส่งผลต่อไตทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง จะส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์ของไตขาดออกซิเจนและสารอาหาร ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติและอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ในขณะเดียวกันหากเป็นความดันโลหิตสูงเรื้อรัง จะทำลายหลอดเลือดฝอยในไต ทำให้ไตกรองของเสียได้ไม่ดี และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้เช่นกัน
ภาวะไตอักเสบ หรือติดเชื้อ
ภาวะไตอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ซึ่งการติดเชื้อเรื้อรังอาจทำลายโครงสร้างของไต เช่น กล้ามเนื้อไต หรือหลอดเลือดฝอย ทำให้ไตเสื่อมสภาพและทำงานได้ไม่ดี อีกทั้งเชื้อโรคบางชนิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือดยังสามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายและทำลายเนื้อเยื่อของไตได้โดยตรง
การอุดตันในทางเดินปัสสาวะ
เนื้องอกที่เกิดขึ้นอาจไปอุดตันทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไหลไม่สะดวก ความดันในไตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการอักเสบของไต และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ยาและสารพิษบางชนิด
โดยทั่วไป การได้รับยาเป็นเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงต่อไตได้ แต่ยังมียาและสารพิษบางชนิดที่ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ไตได้โดยตรง เช่น ยาลดความดันที่อาจไปรบกวนการไหลเวียนโลหิต หรือสารพิษบางชนิดที่อาจตกตะกอนในท่อปัสสาวะจนเกิดการอุดตัน ซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการเกิดไตวายเฉียบพลัน
โรคประจำตัว
โรคประจำตัวหลายชนิดสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถทำลายเซลล์ไตโดยตรง โดยทำให้ไตเสื่อมสภาพและทำงานได้ไม่ดี หรือโรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต อย่างโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็สามารถส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ทำให้ไตทำงานผิดปกติได้เช่นกัน
อาการไตเสื่อมที่เสี่ยงต่อการเกิดไตวายเฉียบพลัน
ไตเสื่อม เป็นภาวะที่ไตจะเสื่อมสภาพลงจนทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาจพัฒนาไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ดังนั้น การสังเกตอาการไตเสื่อมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีอาการต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงของไตวายเฉียบพลัน ได้แก่
- ความเปลี่ยนแปลงของปัสสาวะ โดยอาจปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือน้อยลง รวมถึงอาจมีฟอง มีสีผิดปกติ เช่น สีแดง น้ำตาล
- อาการบวม ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่เท้า ขา หน้าท้อง หรือรอบดวงตา เนื่องจากร่างกายขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกไม่ได้
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย โดยเกิดขึ้นง่ายกว่าปกติ แม้ทำกิจวัตรประจำวันเล็กน้อย
- อาการคัน ที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง เนื่องจากการสะสมของสารพิษในร่างกาย
- คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากการสะสมของสารพิษในร่างกาย
- หายใจลำบาก หากไตเสื่อมรุนแรง อาจทำให้ของเสียสะสมในเลือดมาก จนส่งผลต่อปอด
- ความดันโลหิตสูง เนื่องจากไตมีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันโลหิต เมื่อไตทำงานผิดปกติ จึงอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
- ปวดเมื่อยตามตัว เนื่องจากมีการสะสมของเสียในร่างกายจำนวนมาก จนอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เพราะการทำงานของไตที่ผิดปกติ อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบอื่นในร่างกาย
รู้เพื่อเลี่ยง ป้องกันไตวายเฉียบพลัน
ภาวะที่ไตหยุดทำงานอย่างกะทันหัน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอย่างรุนแรง แต่หากรู้จักดูแลสุขภาพไตอย่างถูกวิธี ก็สามารถป้องกันได้ ดังนี้
- ควบคุมโรคประจำตัว เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือการควบคุมความดันโลหิตสำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยจำกัดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ควบคุมปริมาณโปรตีน รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนัก ลดความดันโลหิต ให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลทำลายไต
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้พบความผิดปกติของไตได้ในระยะเริ่มต้น


วิธีการรักษาไตวายเฉียบพลัน
ไตวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่คุกคามสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก การรักษาและการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อชะลอความเสื่อมของไตและรักษาคุณภาพชีวิตให้ดีที่สุด โดยมีวิธีรักษา ดังนี้
- การรักษาจากต้นเหตุ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยและเริ่มรักษาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไต เช่น การหยุดให้ยาที่มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดไตวายเฉียบพลัน หรือรักษาโรคประจำตัวที่อาจกระตุ้นอาการ ให้อยู่ในภาวะปกติ
- การรักษาตามอาการ ซึ่งเป็นการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต หรือยาเพื่อควบคุมระดับโพแทสเซียมในเลือด
- การบำบัดทดแทนไต ในกรณีที่ไตไม่สามารถทำงานได้เพียงพอ แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการบำบัดทดแทนไต ได้แก่
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
- การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis)
- การกรองเลือดต่อเนื่อง (Continuous renal replacement therapy – CRRT)
- การปลูกถ่ายไต แม้ว่าการปลูกถ่ายไตจะไม่ใช่การรักษาหลักสำหรับไตวายเฉียบพลัน แต่ในกรณีที่ไตไม่สามารถฟื้นตัวได้เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง การผ่าตัดเปลี่ยนไตก็อาจกลายเป็นทางเลือกในการรักษาระยะยาว โดยมีขั้นตอนดังนี้
- การประเมินความเหมาะสมของผู้ป่วยและผู้บริจาคไต
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
- การให้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ
- การติดตามผลและดูแลหลังการปลูกถ่ายไต
ปัจจุบันการฟอกไตและผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีความปลอดภัย รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไตวายเฉียบพลันและโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
การตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพไต และการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีอาการเสี่ยงของโรคไตเสื่อม ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อวางแผนและหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ไตเทียม ชั้น 4 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5021
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating