5 โรคข้อไหล่ที่พบบ่อยและทำให้ปวดไหล่ - โรงพยาบาลเวชธานี

บทความสุขภาพ

5 โรคข้อไหล่ที่พบบ่อยและทำให้ปวดไหล่

Share:

อาการปวดไหล่เกิดได้ทั้งจากการใช้งาน อุบัติเหตุและความเสื่อม แต่ไม่ว่าจากสาเหตุไหนก็ควรรีบพบแพทย์ก่อนอาการจะรุนแรงหรือนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ

ข้อไหล่เป็นอวัยวะสำคัญที่จะช่วยให้แขนสามารถใช้งานและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ทั้งในเรื่องของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การเล่นกีฬา รวมถึงการทำงาน หากข้อไหล่บาดเจ็บหรือมีอาการผิดปกติอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยความผิดปกติที่พบได้บ่อยคืออาการปวดไหล่ ซึ่งหลายคนมักนิ่งนอนใจและคิดว่าอาการปวดไหล่จะหายไปเองได้ แต่หลาย ๆ ครั้งอาการผิดปกติเช่นนี้อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงบางอย่างได้ เช่น มะเร็งกระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เอ็นไหล่ฉีกขาด เป็นต้น

นายแพทย์รัฐภูมิ วัชโรภาส ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ – เวชศาสตร์การกีฬาและโรคข้อไหล่และข้อเข่า โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า

อาการผิดปกติ บริเวณข้อไหล่ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ พบได้ตั้งแต่วัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยโรคที่พบได้บ่อยแบ่งออกเป็น 5 โรคหลัก ๆ ดังนี้

  1. เอ็นข้อไหล่อักเสบ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือเกิดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นการทำลายข้อต่อกระดูกของตัวเองและเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ อีกทั้งยังเกิดจากการใช้งานข้อไหล่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในท่าที่ต้องยกแขนสูงหรือแบกหามของหนักเป็นประจำ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงไปที่ต้นแขน มีอาการไหล่ขัด ไหล่บวมและขยับข้อไหล่ลำบาก
  2. เอ็นข้อไหล่ฉีกขาด พบบ่อยทั้งในผู้สูงอายุและวัยทำงาน ส่วนมากเกิดจากอุบัติเหตุหรือการใช้งานไหล่ผิดท่า ตลอดจนเกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดไหล่ โดยเฉพาะเวลานอน และปวดมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่าหรือยกแขนขึ้นลงในบางท่า อ่อนแรง ตลอดจนไม่สามารถใช้งานไหล่ได้ตามปกติ
  3. ข้อไหล่เสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานข่อไหล่มากและหนักเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อม พบมากในผู้สูงอายุ รวมถึงนักกีฬาหรือกลุ่มคนที่ทำงานแบกหามของหนักก็อาจทำให้ข้อไหล่เสื่อมก่อนวัยได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณข้อไหล่ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนหรือช่วงอากาศเย็น
  4. ข้อไหล่ติด คือภาวะที่มีการขยับข้อไหล่ได้น้อย โดยมักจะเริ่มจากไม่สามารถยก กาง หรือหมุนหัวไหล่ได้ ข้อไหล่จะค่อย ๆ ลดการเคลื่อนไหวจนกระทั่งเคลื่อนไหวได้น้อยลง และพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวาน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจมีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่ติดได้มากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อไหล่มาก่อนและมีการหยุดเคลื่อนไหวข้อไหล่ไปชั่วคราวอาจมีโอกาสข้อไหล่ติดด้วยเช่นกัน ผู้สูงอายุมักมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าวัยอื่น ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการอาจสะสมจนเป็นมากขึ้น
  5. ข้อไหล่หลุด คือการที่กระดูกข้อไหล่หลุดออกจากเบ้าไหล่ ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ล้ม ถูกฉุดแขนหรือถูกกระแทกแบบรุนแรง รวมถึงผู้ที่มีภาวะเส้นเอ็นและผนังหุ้มรอบข้อไหล่หลวมจึงทำให้ไหล่หลุดง่าย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดไหล่รุนแรง หัวไหล่ผิดรูป ขยับไหล่ไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็มีโอกาสไหล่หลุดซ้ำได้อีก

“อาการปวดไหล่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ละสาเหตุก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นหากมีอาการปวดไหล่ ไม่ว่าจะเป็นการปวดที่ทราบสาเหตุหรือไม่ทราบสาเหตุก็ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้หรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรัง ข้อไหล่ยึดติด ข้อไหล่หลวม หรือมีโรคบางอย่างแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายมากขึ้นได้”

นายแพทย์รัฐภูมิกล่าว

สำหรับการรักษาอาการปวดไหล่ แพทย์จะซักประวัติหรือตรวจสุขภาพบางอย่างเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางโรคต้องรักษาที่ต้นเหตุเพื่อลดอาการปวดไหล่ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ หรืออาการปวดไหล่ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของบางโรค เป็นต้น ส่วนอาการปวดไหล่ที่เกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจจะรักษาด้วยยา พักการใช้งานข้อไหล่ 3 – 4 สัปดาห์ กายภาพบำบัด หรือในรายที่อาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด อย่างเช่นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด ข้อไหล่เสื่อม ข้อไหล่ติด หรือข้อไหล่หลุด โดยปัจจุบันสามารถใช้การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดการบาดเจ็บ แผลเล็ก ฟื้นตัวไว สามารถกลับไปใช้งานไหล่และแขนได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติเร็วขึ้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2298 , 2299

  • Readers Rating
  • Rated 4.1 stars
    4.1 / 5 (5 )
  • Your Rating