บทความสุขภาพ

ข้อเท้าพลิกอย่าชะล่าใจ รีบรักษาก่อนเรื้อรัง

Share:

ข้อเท้าพลิก

ข้อเท้าพลิกอันตรายกว่าที่คิด!! อุบัติเหตุข้อเท้าพลิก ไม่ว่าจะเกิดจากการเล่นกีฬา หรือเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน หลายคนอาจมองว่าเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย แต่หากละเลยและขาดการดูแลที่เหมาะสมก็อาจเสี่ยงต่อภาวะข้อเท้าหลวมได้

สาเหตุของข้อเท้าพลิก

สาเหตุของอาการข้อเท้าพลิก หรือข้อเท้าแพลง เกิดจากการที่ข้อเท้าบิดตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้หกล้มหรือเสียการทรงตัว ส่วนมากมักเกิดกับนักกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวข้อเท้าอย่างรวดเร็ว หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว อย่างผู้สูงอายุ รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการล้มหรือข้อเท้าพลิกได้ง่าย เช่น การใส่รองเท้าส้นสูง การเดินบนพื้นผิวขรุขระ

ความรุนแรงของอาการข้อเท้าพลิกมีความแตกต่างกันออกไป บางรายอาจจะบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย พักการเดินหรือยืนเพียงไม่กี่วันและรับประทานยาแก้ปวดก็อาจจะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเส้นเอ็นฉีกขาดต้องพักรักษาตัวนานกว่าปกติ ดังนั้น แม้ว่าอาการบาดเจ็บไม่รุนแรง แต่หากผ่านไป 2-3 เดือนแล้วยังปวดข้อเท้าอยู่ แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเสี่ยงต่ออาการข้อหลวมได้

อาการข้อเท้าพลิก

เมื่อข้อเท้าพลิกและเส้นเอ็นอักเสบจะทำให้เกิดอาการบวม แดงและปวด แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถลงน้ำหนักได้ อาจบ่งชี้ว่าเส้นเอ็นข้อเท้าฉีกขาดหรือมีกระดูกหักร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์

การรักษาอาการข้อเท้าพลิก

ในกรณีที่ข้อเท้าพลิกแล้วอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยวิธี PRICE ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • Prevent ป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติมด้วยการไม่ลงน้ำหนักที่เท้าหรือใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน
  • Rest หยุดกิจกรรมและพักการใช้งานข้อเท้าทันที
  • Ice ประคบเย็น
  • Compression ใช้ผ้ายืดสำหรับพันข้อเท้ารัดและพยุงบริเวณที่บาดเจ็บไว้
  • Elevation วางขาและเท้าให้อยู่เหนือระดับหัวใจในขณะนั่งหรือนอนเพื่อให้เลือดไหลเวียนง่ายและลดอาการบวม

เมื่อปฐมพยาบาลตามขั้นตอนดังกล่าว อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นใน 2 – 3 วัน และหายภายใน 2 – 3 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหรือปวดบวมกว่าเดิมอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์และตรวจอย่างละเอียด หากมีอาการบ่งชี้แพทย์อาจให้ตรวจ MRI เพื่อดูว่ามีกระดูกบาดเจ็บหรือมีเส้นเอ็นข้อเท้าฉีกขาดร่วมด้วยหรือไม่

ในกรณีที่มีอาการปวดบวมเรื้อรังหรือมีภาวะข้อเท้าหลวม แพทย์จะให้ยาลดอาการอักเสบร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นรอบข้อเท้าและฝึกการทรงตัวของข้อเท้า พร้อมกับใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยพยุงข้อเท้า แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นใน 3 – 6 เดือน แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดส่องกล้องและเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร. 0-2734 0000 ต่อ 2299

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (6 )
  • Your Rating