บทความสุขภาพ

ลองสำรวจตัวเอง เคยปวดข้อมือนานๆ ไหม? อาจเป็นอาการของโรครูมาตอยด์

Share:

ลองสำรวจตัวเอง เคยปวดข้อมือนานๆ ไหม? อาจเป็นอาการของโรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์ อาการปวดบริเวณข้อต่างๆ เช่น ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า อาจไม่ใช่อาการปวดเมื่อยทั่วไป แต่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่มีลักษณะอาการอักเสบของข้ออย่างรุนแรงและเรื้อรัง อาจเกิดขึ้นได้กับทุกข้อทั่วทั้งร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษา ในระยะยาวอาจทำให้ข้อถูกทำลาย กระดูกกร่อน ข้อผิดรูป และเกิดความพิการตามมาได้

สาเหตุการเกิดโรครูมาตอยด์

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่

  1. การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  2. การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด
  3. การสูบบุหรี่
  4. ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่นๆ

อาการของโรครูมาตอยด์

  • อาการของโรคพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อัตราส่วน 8:1 พบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น จนถึงวัยสูงอายุ
  • ปวดข้อ และข้ออักเสบเรื้อรัง ต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณข้อนิ้วมือ และข้อมือ
  • กรณีอาการรุนแรง อาจข้ออักเสบได้ทุกข้อทั่วทั้งร่างกาย รวมทั้งข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า
  • ข้อที่อักเสบหากกดแล้วจะเจ็บ ร่วมกับบวม แดง อุ่น เมื่อขยับหรือใช้งานจะมีอาการปวดมากขึ้น
  • มีอาการข้อฝืด ตึง แข็ง ขยับได้ลำบากหลังตื่นนอนตอนเช้า
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้

การตรวจวินิจฉัย และการรักษา

แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ถ่ายภาพรังสี ตรวจเลือดหาค่ารูมาตอยด์ และสารภูมิต้านทานที่จำเพาะต่อโรครูมาตอยด์ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยแล้วผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โดยเป้าหมายในการรักษา มุ่งหวังให้โรคสงบ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ปวดข้อ ทำงาน หรือใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และลดโอกาสเกิดข้อพิการ โดยมีแนวทางการรักษาดังนี้

  • รักษาด้วยยา ทั้งยารับประทานและยาฉีด เพื่อลดการอักเสบของข้อ ชะลอ และป้องกันการทำลายข้อในระยะยาว
  • กายภาพบำบัด และออกกำลังกายควบคู่ เพื่อคงความยืดหยุ่นของข้อ
  • การผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเทียม เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว ช่วยลดความเจ็บปวด และแก้ไขความพิการ

อย่างไรก็ตาม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้ว่าโรคจะสงบแล้วก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องติดตามการรักษา และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมโรคไม่ให้กลับมารุนแรง อย่างไรแล้ว การรักษาจะประสบความสำเร็จดีได้ เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรกที่เริ่มมีอาการ ดังนั้น หากเริ่มมีอาการปวดข้อ หรือข้อบวม แดง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยแลรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2200, 2204

  • Readers Rating
  • Rated 4.2 stars
    4.2 / 5 (30 )
  • Your Rating