บทความสุขภาพ

เขาทักว่า ลูกดิฉันขาโก่ง

Share:

“เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ลูกอ่อนหลายๆ คู่ คงเคยได้ยินคำแนะนำจากญาติผู้ใหญ่ว่า ให้ดัดขาลูกตั้งแต่ยังเป็นทารก โตขึ้นขาลูกจะได้ไม่โก่ง ถึงแม้ไม่แน่ใจ แต่พอมีคนทักว่าลูกขาโก่ง ก็มักทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลใจไม่น้อย”

ภาวะขาโก่งในเด็ก มีหลายรูปแบบ ทั้งโก่งออกด้านนอก โก่งเข้าด้านใน โก่งมาด้านหน้า หรือด้านหลัง แต่โดยส่วนใหญ่วัยหัดเดิน หรือมากกว่า 95% จะเป็นขาโก่งออกด้านนอก คือโก่งแบบเดินขาถ่างๆ เข่าห่างจากกัน เท้าอาจจะบิดหมุนเข้าด้านใน แต่ถ้าไม่ใช่ขาโก่งแบบออกด้านนอกถึอว่าผิดธรรมชาติ

ดูขาอย่างไรว่าโก่งหรือไม่โก่ง

ขาโก่งที่เห็น อาจเป็นขาโก่งจริง หรือขาไม่ได้โก่งจริงแต่ท่ายืนไม่ตรง จึงทำให้ดูภายนอกเหมือนขาโก่ง ลองสังเกตดู เมื่อเรายืนปลายเท้าชี้ออกด้านนอก งอเข่าเล็กน้อย จะดูเหมือนขาโก่งโค้งออกด้านนอก ถ้ายืนหันปลายเท้าเข้าด้านใน งอเข่าเล็กน้อยจะเหมือนขาโก่งเข้าด้านใน เพราะเด็กช่วงวัย 1-2 ปี เป็นช่วงหัดเดิน การทรงตัวยังไม่มั่นคง เด็กจะเดินขาถ่างบ้าง เข่างอเล็กน้อย และกางแขนเป็นบางครั้งเพื่อช่วยในการทรงตัว ซึ่งเป็นท่าเดินมาตรฐานในเด็กวัยนี้ ดังนั้น เวลาดูว่ากระดูกขาโก่งหรือไม่แบบง่ายๆ ต้องเหยียดเข่าให้ตรงสุด หันลูกสะบ้าตรงมาด้านหน้า นำข้อเท้ามาชิดกัน โดยช่องว่างระหว่างขอบด้านในของเข่าไม่ควรห่างเกิน 2 นิ้วของคุณพ่อคุณแม่ หรืออย่างช้าควรตรงก่อนอายุ 3 ปี หรือถ้านำข้อเท้ามาชิดกันแล้ว แต่เข่าลูกซ้อนกันหรือเกยกัน ก็ควรพาลูกมาตรวจกับแพทย์ด้วยเช่นกัน

ขาโก่งแบบธรรมชาติหายเองได้ เป็นอย่างไร แล้วจะหายเมื่อไหร่

กลไกการเจริญเติบโตตามธรรมชาติของกระดูกขาคนเรา แนวกระดูกขาจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับสมดุลตามช่วงเวลา เพื่อให้ขามาอยู่ในแนวที่รับน้ำหนักตัวได้ดีที่สุด โดยขาคนเราประกอบด้วยสามส่วน คือส่วนต้นขาเหนือเข่า ส่วนขาใต้เข่า และเท้า ถ้ามองด้วยสายตาจะเห็นส่วนต้นขาอยู่ในแนวเส้นเดียวกันกับกระดูกใต้เข่า แต่ในความเป็นจริงกระดูกต้นขากับกระดูกส่วนใต้เข่าไม่ได้อยู่ในเส้นแนวเดียวกัน แต่จะทำมุมกันประมาณ 6-7 องศา

การเจริญเติบโตของแนวขาเกิดขึ้นทั้งแนวด้านข้าง ด้านหน้า-หลัง และแนวหมุน คือเปลี่ยนแปลงทั้งสามมิติ ในบทความนี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแนวขาด้านข้าง ซึ่งทำให้ขาดูโก่งออกด้านนอกหรือโก่งเข้าด้านใน

จากภาพข้างบนจะเห็นว่า เมื่อแรกเกิดแนวกระดูกจะโก่งออกด้านนอกดังรูป A บางคนมากบางคนน้อย เชื่อว่าเกิดจากมดลูกที่มีรูปร่างเป็นถุงโค้ง และเด็กต้องขดตัวอยู่แน่นในครรภ์ เมื่อเกิดมาจะเห็นขาใต้เข่ามีลักษณะโค้งชัดเจน เมื่อเด็กเริ่มเดิน เด็กบางคนจะเดินขาถ่างมากบางคนถ่างน้อย แนวกระดูกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นขาตรงเมื่ออายุประมาณ 18 เดือนตามรูป B ส่วนในรูป C เป็นแนวขาระยะ 3 ปีครึ่ง ขาจะโก่งเข้าด้านในเหมือนขาเป็ด เด็กบางคนเป็นมากบางคนเป็นน้อย ถ้าดูด้วยสายตาเทียบขาบนกับขาใต้เข่า มุมไม่น่าเกิน 10 – 15 องศา ถ้ามากกว่านี้ควรพาลูกไปพบแพทย์ เมื่อเด็กอายุมากขึ้น แนวขาจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแบบรูป D แนวขาเหมือนผู้ใหญ่ คือโก่งเข้าด้านในเล็กน้อยประมาณ 7 องศา ที่อายุประมาณ 7 ปี

รูปด้านบนนี้ เป็นหลักที่ใช้ดูการเจริญเติบโตของแนวขาเทียบกับอายุที่ดี ถ้าสังเกตว่าลูกของเราแนวขาไม่เป็นไปตามนี้ ควรพาลูกมาตรวจกับแพทย์ คือถ้าเป็นแบบโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติ ความโก่งจะค่อยๆ ตรงเมื่ออายุ 2 ปี อย่างช้าไม่เกิน 3 ปี แต่ถ้าเป็นแบบขาโก่งเป็นโรค แนวขาจะโก่งออกมากยิ่งขึ้น นอกจากเด็กจะเดินไม่เป็นปกติแล้ว คือตัวจะโยกเยกไปตามขาข้างที่เดิน ข้อเข่าจะเสียเร็ว เนื่องจากการกระจายน้ำหนักของข้อไม่ดีเหมือนคนปกติ ข้อเข่าจะปวดตั้งแต่อายุน้อย อักเสบ เดินไม่ได้ไกลเนื่องจากความเจ็บปวด

ขาโก่งออกด้านนอก ไม่ยอมหายเองตามธรรมชาติขาโก่ง

เป็นสถานการณ์ที่ต้องตรวจละเอียด ว่ามีสาเหตุอะไรทำให้กระดูกไม่ปรับแนวตามที่ควรจะเป็น หากจะแบ่งกว้างๆ ให้เข้าใจง่ายคือ เป็นกลุ่มที่มีสาเหตุชัดเจน ซึ่งไปรบกวนการเจริญเติบโตของเยื่อเจริญขา กับกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ถือว่าเป็นโรคที่เยื่อเจริญทำงานไม่สมดุลเอง ซึ่งมักเกิดกับเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่า

กลุ่มแรก คือมีโรคไปรบกวนเยื่อเจริญขาทำให้โตไม่ปกติ มีหลายโรคที่ทำแบบนี้ได้ เช่น เนื้องอกกระดูกขาไปเกิดใกล้กับเยื่อเจริญทำให้การเจริญไม่สมดุล การติดเชื้อกระดูกขาทำให้การเจริญผิดปกติ หรือโรคพันธุกรรมหลากหลายชนิด

กลุ่มที่สอง เป็นโรคขาโก่งจากเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุล ทั้งที่ไม่พบว่ามีสิ่งใดทำลายเยื่อเจริญกระดูก โดยเยื่อเจริญด้านในของกระดูกมีการเจริญช้ากว่าเยื่อเจริญด้านนอก ทำให้ยิ่งโตขายิ่งโก่งออกด้านนอก โรคนี้ส่วนใหญ่พบในเด็กช่วงวัยหัดเดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติหายเองได้ ดังนั้น จึงเกิดความสับสนระหว่างขาโก่งออกด้านนอกแบบเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุล ซึ่งไม่สามารถหายเองได้ กับ ขาโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติหายเองได้

โรคขาโก่งออกด้านนอกแบบเยื่อเจริญกระดูกใต้เข่าเจริญไม่สมดุลนั้น สาเหตุยังไม่ชัดเจน แต่มักพบได้บ่อยในเด็กที่อ้วน และเดินเร็ว อย่างไรก็ตาม เด็กผอมก็เป็นโรคนี้ได้ แต่เด็กอ้วนพบบ่อยกว่า และเด็กอ้วนที่เป็นโรคนี้ ก็มักรักษาได้ยากกว่าเด็กผอม

“ความเชื่อที่ว่า การอุ้มเด็กแบบเหน็บข้างตัวอ้าขาออกเป็นสาเหตุของโรค ไม่เป็นความจริง และการดัดขาให้ทารกหลังอาบน้ำสามารถป้องกันโรคนี้ได้ ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน การดัดขาโดยใช้มือทำเป็นครั้งๆ ไม่สามารถสร้างแรงกดกับกระดูกขาได้เลย แรงจะไปบิดที่เอ็นยึดข้อ จึงไม่ได้ช่วย หรือป้องกันโรคนี้ได้แต่อย่างใด”

วิธีแยกระหว่างขาโก่งออกด้านนอกแบบธรรมชาติ กับ ขาโก่งออกด้านนอกที่เป็นโรคเยื่อเจริญขาไม่สมดุล มีวิธีที่ใช้แยกง่ายๆ คือ

สังเกตแนวขาตามช่วงเวลาที่ได้กล่าวในรูปข้างต้น หากเลย 3 ปีแล้วขายังโก่งออกด้านนอก ควรพาเด็กไปพบแพทย์

ปริมาณความโก่ง โดยจับลูกนั่งหันหน้าเข้าหาเรา เหยียดเข่าให้สุด จับข้อเท้ามาชนกัน ให้เข่าหันมาด้านหน้า โดยหันเท้าชี้ไปด้านหน้า มองดูที่เข่า ถ้าเข่าชนกันถือว่าผ่าน ระยะระหว่างเข่าถ้ามากเกินสองนิ้วของคุณพ่อคุณแม่ ถือว่าแนวกระดูกโก่งออกด้านนอก ถ้าโก่งจนระยะห่างเกินกว่าสี่นิ้วแสดงว่าโก่งมาก และมีโอกาสเป็นโรคสูงมาก

ความโก่งที่ไม่เท่ากัน ในท่าเดียวกับข้อ 2 ลองดูแนวขาส่วนเหนือเข่าเปรียบเทียบกับขาใต้เข่า จะเห็นแนวโก่ง ถ้าแนวโก่งสองข้างเป็นพอๆ กัน มีโอกาสเป็นแบบธรรมชาติสูง แต่ถ้าขาสองข้างแนวโก่งไม่เท่ากันอย่างชัดเจน ลองพาเด็กมาตรวจดู ส่วนเท้าบิดหมุนเข้าด้านในมาก ก็พบได้ทั้งขาโก่งธรรมชาติ และแบบเป็นโรค แต่เท้าจะบิดหมุนมากชัดเจนกว่าในรายที่โก่งออกด้านนอกแบบเป็นโรค

รักษาอย่างไร

การดัดดาม โดยใช้อุปกรณ์ดัดขา จะใช้หลักการดัดคล้ายกับใช้มือดัด แต่มีอุปกรณ์ช่วยดามคงแรงดัดและแนวการดัดไว้ อุปกรณ์ที่ดามจะต้องยาวจากต้นขาลงมาถึงเท้า และต้องใส่นานหลายชั่วโมงต่อวัน จึงทำให้เด็กเดินลำบาก และไม่เป็นที่นิยมใช้กัน ผลการรักษาจึงไม่แน่นอน

การรักษาด้วยการผ่าตัด โดยตัดแต่งกระดูกให้ตรง ใส่เฝือกขารอกระดูกติด เป็นวิธีที่สะดวก คาดหวังผลได้ชัดเจน และในเด็กเล็กกระดูกจะติดเร็วมาก โดยทั่วไปใส่เฝือกประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้น สามารถปล่อยให้เด็ก ยืน เดิน ออกกำลังกายเบาๆ ให้กล้ามเนื้อฟื้นความแข็งแรง

โรคขาโก่งออกด้านนอกในเด็กเล็ก ถ้าได้รับการรักษาที่เร็ว ผลการรักษาได้ผลดี โอกาสโก่งซ้ำน้อย อย่างไรก็ตาม บางรายที่ปล่อยขาเด็กให้โก่งไว้นาน หรือโรคเป็นมาก เยื่อเจริญด้านในกระดูกขาเสียหายมาก ทำให้มีโอกาสเกิดขาโก่งซ้ำภายหลังผ่าตัดได้ การผ่าตัดจะทำยากขึ้น และต้องทำหลายครั้ง ดังนั้น ทางที่ดี ลองสังเกตขาลูกตามคำแนะนำเบื้องต้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ และญาติๆ ได้ ปัจจุบันภาวะขาโก่งโดยส่วนใหญ่รักษาได้ผลดี อย่ารอจนเป็นมากๆ อายุมากแล้วค่อยพามาพบแพทย์


สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 2298, 2299

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (1 )
  • Your Rating