บทความสุขภาพ

ปัญหาพี่อิจฉาน้อง..แก้ได้

Share:

เด็กเมื่อมีน้องจะรู้สึกอย่างไร

เด็กคงเลือกเกิดไม่ได้ว่าจะเกิดมาในครอบครัวแบบไหน น้องเกิดมาเพศอะไร หน้าตายังไง อารมณ์แบบใด แต่แน่นอนว่าคนที่มาใหม่นี้จะต้องมาแบ่งพ่อแม่ไป จากเดิมที่เคยได้รับความสนใจ 100% ก็เหลือแค่ครึ่งหนึ่ง

การที่พี่อิจฉาน้องเป็นพัฒนาการด้านหนึ่งหรือไม่

เรียกว่าเป็นเรื่องปกติมากกว่า และพบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุ 1-3 ปี สิ่งสำคัญก็คือว่า พ่อแม่จะช่วยให้เขาเป็นพี่ที่น่ารักได้อย่างไร เพราะส่วนใหญ่เมื่อคุณแม่กำลังวุ่นวายกับการดูแลน้อง

คนที่อยู่ดีๆกลายเป็นพี่จะพยายามทำยังไงก็ได้ให้ได้รับความสนใจเหมือนเดิม เช่น อาจจะต้องการให้แม่กอดหรืออุ้มมากขึ้น บางครั้งก็มีพฤติกรรมถดถอย กลับไปเป็นเหมือนเด็กเล็กอีก เช่น ดูดนิ้ว, กลับไปดูดขวดนมอีก หลังจากที่เคยเลิกได้แล้ว หรือ อาจจะก้าวร้าวเพิ่มขึ้น เช่น แกล้งน้อง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องปกติ บางอย่างก็สามารถป้องกันได้ หรือดีขึ้นเองใน 2-3 เดือนหลังจากมีน้อง ที่สำคัญขอให้เข้าใจและอย่าไปดุว่าเด็ก เพราะจะทำให้เขารู้สึกไม่ชอบน้องมากขึ้น

พ่อแม่ควรรับมือปัญหาเหล่านี้ อย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นไปได้ ควรป้องกันตั้งแต่น้องยังไม่คลอดออกมา โดยให้เขาได้มีส่วนร่วมเช่นให้จับหน้าท้องแม่ตอนที่น้องดิ้น ให้พี่ช่วยแม่เตรียมของเล่น และของใช้ของน้อง และใช้คำว่าครอบครัวของ “เรา”

ในช่วงใกล้คลอด หรือหลังคลอดใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการส่งลูกไปเนอสเซอรี่ หรือ ร.ร. และอย่าจัดให้พี่ต้องย้ายออกจากเตียงหรือห้องที่เขาเคยอยู่ เพื่อไม่ให้เขาเข้าใจผิดว่า เป็นเพราะว่ามีน้องมาใหม่ เขาจึงถูกขับไล่ไสส่งออกไป

เมื่อคุณแม่ไปคลอด ให้ลูกได้มีโอกาสไปเยี่ยมน้องที่ ร.พ. หรือโทรกลับมาคุยกับลูกสม่ำเสมอ กลับมาถึงบ้านใหม่ๆ ให้คุณแม่อยู่กับพี่สักพักหนึ่ง หรือให้โอกาสพี่ได้ใกล้ชิด จับต้องหรือเล่นกับน้องบ้าง โดยมีผู้ใหญ่คอยดูแลตลอดเวลา พยายามหลีกเลี่ยงคำพูดบางอย่าง ที่อาจทำให้เกิดปัญหา เช่น “อย่าจับน้องนะ, อยู่ห่างๆน้อง ห้ามเข้าใกล้, ทำไมเราจึงยุ่งนัก อย่างนี้แม่ไม่รักแล้ว, ถ้าไม่หยุด จะให้ (ป้า, พี่แดง ฯลฯ) เอาไปปล่อย (หรือเอาไปเลี้ยง), อย่างนี้ไม่เก่งเลย สู้น้องก็ไม่ได้ น้องน่ารักกว่า ฯลฯ “ ซึ่งนอกจากคุณพ่อคุณแม่ ต้องระวังการใช้คำพูดที่จะกระทบต่อเด็กแล้ว ยังจะต้องเตรียมตัวผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่จะเข้ามา มีบทบาทในการดูแลเด็กด้วย ที่บางครั้งอาจจะพูดในทำนองนี้ โดยไม่ทันได้คิด หรืออาจจะพูดไปเพื่อแหย่พี่คนโตเล่น แต่หลายต่อหลายครั้ง พี่คนโตอาจจะไม่สามารถทำใจได้ และจะเกิดความ “ไม่ชอบน้อง” ขึ้น เพราะ”น้อง”เป็นสาเหตุให้ตนเองถูกดุ หรือไม่มีคนรัก

ให้พี่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น ช่วยหยิบขวดนม หรือช่วยนำผ้าอ้อมไปไว้ที่ถังทิ้งผ้าอ้อม และอย่าลืมกล่าวชมเขา ด้วยอย่างจริงใจ ว่าคุณพ่อคุณแม่ดีใจและภูมิใจที่เขาได้เป็น พี่ใหญ่ “เป็นผู้ช่วยคุณแม่” ในการดูแลน้อง และให้พี่รู้สึกว่า น้องชอบที่มีพี่อยู่ใกล้ๆ เช่น “ดูซิ น้องชอบมากเลย ที่ลูกคุยกับน้อง”
ควรมีเวลา”พิเศษ” ที่คุณแม่ได้อยู่กับพี่ตามลำพัง โดยไม่มีน้องคอยกวน ร่วมกันทำกิจกรรมที่เขาชอบ เช่น เล่านิทาน ไปเดินเล่น ฯลฯ หรือขณะที่คุณแม่ดูแลน้องเล็กอยู่ คุณพ่อหรือผู้ใหญ่ท่านอื่น เช่น คุณตา สามารถชวนเขาไปเล่น หรือทำกิจกรรมอื่น ถ้ายิ่งมีเด็กโตคนอื่นที่มาเล่นกับเขาได้ด้วย ก็จะยิ่งช่วยให้เขาเพลิน และเข้าใจคุณแม่ ยอมให้คุณแม่เลี้ยงน้องได้ โดยเขาไม่รู้สึกถูกทอดทิ้งอยู่คนเดียว

หากปล่อยไว้จะส่งผลเสียอย่างไรในอนาคต

ถ้าพ่อแม่ปล่อยไว้ แน่นอนว่าจะพลอยทำให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียด รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่เองด้วย เด็กเองจะมีความรู้สึกอยู่ตลอดว่า น้องได้รับความรักมากกว่า พ่อแม่ให้เวลามากกว่า ซึ่งส่งผลให้พี่รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครรัก ที่เลวร้ายที่สุด คืออาจถึงขึ้นลงมือทำร้ายกันได้

ดังนั้น การเตรียมตัวมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวนั้น เป็นสิ่งที่น่ายินดี และน่าตื่นเต้น แต่อย่าลืมนึกถึงหัวใจน้อยๆ ของผู้ที่ต้องกลายเป็นพี่ด้วย แสดงออกให้เขาได้รับรู้ว่าความรักที่เรามีต่อเขานั้นก็ไม่ได้ลดลง อย่าปล่อยให้เขาเกิดความสงสัยอยู่ในใจตลอดว่าเรารักเขาไม่เท่ากัน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating