ตรวจก่อน รู้ทัน มะเร็งปากมดลูก ป้องกันไว้ดีกว่ารักษา
ในประเทศไทย มะเร็งปากมดลูก พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านมเช่นเดียวกัน มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ ราว 10,000 ราย/ปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรค 52% หรือวันละ 14 ราย มะเร็งปากมดลูกจึงนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก
สาเหตุของ มะเร็งปากมดลูก
การศึกษาทางการแพทย์พบว่า สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก 90% คือการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ชนิดก่อมะเร็ง (Oncogenic HPV) หรือชนิดความเสี่ยงสูง (High-Risk) ซึ่งการติดเชื้อไวรัส HPV ส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อดังกล่าว แบบคงอยู่นาน (Persistent Infection) เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
เชื้อ HPV มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 6 สัปดาห์ถึง 8 เดือน โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสHPV มักอยู่ไม่นาน (Transient Infection)ส่วนใหญ่จะหายไปภายใน 12 เดือน ส่วนการติดเชื้อไวรัส HPV แบบคงอยู่นาน (Persistent Infection) จะทำให้เซลล์เยื่อบุปากมดลูกมีโอกาสกลายรูปผิดปกติได้ ขณะที่ระยะเวลาเฉลี่ยจากการติดเชื้อ HPV จนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก จะใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด มะเร็งปากมดลูก
ปัจจัยเสี่ยงทางนรีเวช : มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีเพศสัมพันธ์กับชายหลายคน มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เคยตั้งครรภ์หรือมีลูกหลายคน เคยรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน และไม่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย : สามีเป็นมะเร็งองคชาต สามีเคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูกมาก่อน สามีมีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามีมีคู่นอนหลายคน
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ : การสูบบุหรี่ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เศรษฐานะต่ำ และขาดสารอาหารบางชนิด
การป้องกันและลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
ระดับที่ 1 Primary Prevention
ป้องกันสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก หรือป้องกันมิให้ปากมดลูกติดเชื้อ HPV ได้แก่ ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ใช้ถุงยางอนามัย มีคู่นอนคนเดียว และการฉีดวัคซีน HPV
ระดับที่ 2 Secondary Prevention
การตรวจหาและรักษาความผิดปกติในระยะก่อนมะเร็ง (Precancerous) ได้แก่ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) และการตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็ง (HPV DNA Testing)
ระดับที่ 3 Tertiary Prevention
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเพื่อให้หายจากโรค และรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
อาการของ มะเร็งปากมดลูก
อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะของโรคโดยอาการที่อาจพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวผิดปกติ ตกขาวปนเลือดและหากมะเร็งลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ ขาบวม ต่อมน้ำเหลืองโต ไตวาย ปัสสาวะหรือ อุจจาระเป็นเลือดเป็นต้น
วิธีการรักษามะเร็งปากมดลูก
- การผ่าตัด (Surgical Treatment) สำหรับมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 ส่วนใหญ่ และระยะที่ 2 บางราย
- รังสีรักษา (Radiation Therapy) รักษาได้ทุกระยะของมะเร็งปากมดลูก
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) รักษามะเร็งในระยะลุกลามมาก หรือมีการกลับเป็นซ้ำ
- การรักษาร่วม (Combined Treatment) เช่น การให้ยาเคมีบำบัดพร้อมกับรังสีรักษา ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม การ
รักษาด้วยเคมีบำบัดก่อนการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน การให้รังสีรักษาหลังการผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังรังสีรักษา เป็นต้น
มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรอง (Pap Smear) และการตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็ง เนื่องจากระยะเวลาตั้งแต่การติดเชื้อไวรัส HPV แบบคงอยู่นาน
กระทั่งส่งผลให้เซลล์เยื่อบุปากมดลูกกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้น ใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี ทำให้มีโอกาสตรวจพบระยะก่อนมะเร็ง (Precancerous Lesion) และสามารถรักษาก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ทันท่วงที ฉะนั้นการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดีที่สุด คือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating