บทความสุขภาพ

โรคไข้กาฬหลังแอ่น

Share:

จากกระแสข่าวเรื่องการระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศไทย จนมีผู้เสียชีวิต ทำให้หลายฝ่าย รวมไปถึงประชาชนหันมาสนใจโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งในประเทศไทยพบได้โดยเฉลี่ย 20-50 รายต่อปี นพ. อมร แซ่เล้า  อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงโรคไข้กาฬหลังแอ่นว่า  โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Neisseria meningitidis) ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) เกิดการแพร่กระจายลุกลามในกระแสโลหิต (meningococcemia) ซึ่งเป็นโรคที่หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหรือวัยรุ่นอายุประมาณ 5-19 ปี การระบาดมักพบในชุมชนกึ่งปิดที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น เช่น สถานเลี้ยงเด็ก ค่ายทหารเกณฑ์ โรงเรียน และ มหาวิทยาลัย โดยส่วนใหญ่จะพบการระบาดในทวีฟอาฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนา ช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้กาฬหลังแอ่น จะพบว่ามี 2-10% ในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสูงถึง 70%  ในผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด

การติดต่อและกลไกการเกิดโรค

นพ. อมร กล่าวถึงการติดต่อของโรคว่า การติดเชื้อจะเกิดเฉพาะจากคนสู่คน โดยการหายใจเอาละอองฝอยของน้ำมูก เสมหะ น้ำลาย จากการไอ แพร่เชื้อไปให้แก่ผู้ที่ใกล้ชิด เชื้อโรคจะมีระยะฟักตัวอยู่ในร่างกายประมาณ 2-10 วัน (เฉลี่ยประมาณ 3-4 วัน) ซึ่งมีปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงแคปซูลของเชื้อแบคทีเรีย และความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย เช่น การขาดคอมพลีเมนต์( complement defiency) ทำให้เชื้อสามารถเล็ดลอดเข้าสู่กระแสโลหิตหรือระบบประสาทส่วนกลางได้ ฉะนั้นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นมักมีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยมากถึง 400 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไปๆที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

ลักษณะอาการของโรค

สำหรับอาการสำคัญของโรคมี 3 อย่าง  คือ
1. มีไข้ มีผื่นและมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดโดยเริ่มจากการเจ็บคอ ปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อตามด้วย ซึ่งอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ ปวดศีรษะรุนแรง, อาเจียน, คอแข็งและมีอาการซึม โดยอาการจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะพบผื่น และมีเลือดออกในผิวหนังหรือเยื่อบุ (pethichiae) ส่วนมากพบบริเวณลำตัว ขา และบริเวณที่มีแรงกด เช่น รอยขอบกางเกง  ถ้าเป็นมากขึ้น จะมีผื่นที่มีลักษณะรวมเป็นจุดจ้ำเลือด (echimosis) และในรายที่รุนแรงจะมีภาวะช็อค ซึ่งเกิดจากภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (DIC) รวมถึงมีเลือดออกในอวัยวะภายในและอวัยวะล้มเหลว จนกระทั่งเสียชีวิต

การวินิจฉัยและการรักษา

นพ. อมร กล่าวด้วยว่า การตรวจวินิจฉัยจะตรวจด้วยการเพาะเชื้อจากเลือด น้ำไขสันหลัง  รวมไปถึงสามารถเพาะเชื้อจากผื่นเลือดออกในผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ และการตรวจด้วยวิธีหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (PCR)  ซึ่งวิธีนี้จะได้ผลเร็วและมีประโยชน์ในกรณีที่ได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน ส่วนการรักษา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และยาที่แพทย์มักจะเลือกใช้คือ  กลุ่ม penicillin หรือcepharosporins ร่วมกับการรักษาประคับประคองอาการ เช่น การให้สารน้ำและเกลือแร่ เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ ช่วยรักษาสมดุลเกลือแร่ ความเป็นกรดด่างในร่างกาย  รวมถึงการให้ส่วนประกอบของเลือดด้วย

ทั้งนี้ การป้องกันโรค มี 2 วิธีหลักๆ คือ การใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยเป็นเวลานาน เช่น สมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน ร่วมห้องนอนเดียวกัน เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก, ห้องเรียนเดียวกับผู้ป่วย ทหารในค่ายเดียวกัน โดยการใช้ยานั้นจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์  และอีกวิธีคือ การฉีดวัคซีน ซึ่งแนะนำให้นักเรียน นักศึกษาที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในยุโรป และ  ผู้ที่จะเดินทางในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ (meningococcal belt) เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และ ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า ซึ่งก่อนหน้านี้วัคซีนจะครอบคลุมเพียงบางสายพันธุ์ที่ระบาดบ่อยๆ  ได้แก่ สายพันธุ์ A, C, Yและ W-135 ส่วนสายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทย อย่าง สายพันธุ์ B นั้นยังไม่มีวัคซีนครอบคลุม  แต่ในปัจจุบันเพิ่งมีการรับรองวัคซีนสำหรับสายพันธ์ B เรียบร้อยแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา