บทความสุขภาพ

เด็กเป็นผื่นภูมิแพ้ พ่อแม่ยอมแพ้ไม่ได้

Share:

เด็กคือวัยที่มีความละเอียดอ่อนโดยเฉพาะในด้านร่างกาย คนที่เป็นพ่อแม่จึงต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอย่างสม่ำเสมอบ่อยครั้งที่พบเด็กทารกและวัยที่เริ่มโตจะมีอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก  อีกทั้งอาการของโรคนี้ยังสามารถเกิดต่อเนื่องไปจนถึงตอนโต จะเป็นๆ หายๆ โดยร้อยละ 50 พบอาการในช่วงขวบปีแรก และร้อยละ 85 พบในช่วง 5 ขวบปีแรก ร้อยละ 17 จะมีผื่นกำเริบเป็นช่วง ๆ จนถึงอายุ 7 ปี และอีกร้อยละ 20 ยังคงมีอาการเรื้อรังต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โรคนี้จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ในการใช้ชีวิตในสังคม ส่งผลกระทบต่อจิตใจตัวเด็ก และความกังวลให้พ่อแม่อีกด้วยด้าน
 
แพทย์หญิง ดนยวรรณ พึ่งสุจริต กุมารแพทย์ แพทย์โรคผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่าเด็กผื่นภูมิแพ้ในเด็ก เป็นโรคผิวหนังที่เชื่อกันว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันทั้งจากพื้นฐานทางพันธุกรรม ทำให้โครงสร้างของผิวหนังเสีย ชั้นไขมันในผิวหนังน้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแห้ง หรือมีสาเหตุจากคนในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด แพ้อากาศ ร่วมกับภาวะทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายพอเกิดปัจจัยกระตุ้นเช่นอาหาร สภาพอากาศ สิ่งระคายเคืองพวกฝุ่น เหงื่อ ผงซักฟอก สบู่ น้ำหอม เนื้อผ้าที่ระคายผิว การติดเชื้อ ความเครียด ซึ่งพอเกิดผื่นจะยิ่งกระตุ้นให้รุนแรงขึ้นด้วย
 
เมื่อผู้ป่วยเด็กเป็นโรคนี้แล้วจะมีอาการคันมาก ผิวหนังแห้งอักเสบเป็นระยะๆตั้งแต่เฉียบพลันถึงเรื้อรัง ลักษณะที่ผิวจะเป็นผื่นตุ่มแดง ลอกเป็นขุย และเกิดการกระจายตามตัว ซึ่งเด็กแต่ละวัยก็จะมีการกระจายของผื่นที่ต่างกันด้วย

วัยทารก

มักเริ่มในวัยเด็กเล็กอายุ 2-3 เดือน ผื่นเริ่มเป็นที่ใบหน้า  รอบปากและแก้ม  ต่อมาผื่นจะพบกระจายมาที่ตามด้านนอกของแขน และขา

วัยเด็กโต

ผื่นบริเวณใบหน้า หรือส่วนอื่นของลำตัวจะน้อยลง  แต่ผื่นมักจะพบมากขึ้นบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ข้อพับแขน,  ข้อพับขา, ข้อมือ, ข้อเท้า, ซอกคอ บริเวณที่มีเหงื่อออกมากจะเป็นตัวทำให้ผิวหนังระคายเคือง ลักษณะผื่นจะหนาขึ้น มีรอยเกา บริเวณลำคอ ข้อพับของแขนและขา
 

การรักษาโรคนี้

เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยก่อนถึงสาเหตุของการเกิดโรคก่อน โดยดูจากประวัติการเกิดผื่นในตัวผู้ป่วย รวมถึงประวัตภูมิแพ้ของครอบครัว นอกจากนี้อาจเพิ่มการตรวจพิเศษโดยพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายเช่น การเจาะเลือดตรวจSpecific IgE ต่อสารภูมิแพ้ชนิดต่างๆ และการตรวจทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนัง จากนั้นแพทย์จะให้ยาทายากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) สำหรับควบคุมอาการคันและอักเสบเรื้อรัง โดยจะเลือกตามความเหมาะสมกับลักษระและตำแหน่งของผื่น ดังนั้นห้ามซื้อยามาทาเองเด็ดขาด
 
ทั้งนี้การใช้ยาดังกล่าวอาจมีผลต่อผู้ป่วยเด็กอยู่บ้าง เช่น ผิวหนังส่วนที่ทายาบางลง เกิดแผลแตก และติดเชื้อได้ง่าย และยาอาจดูดซึมเข้าร่างกาย ก่อการทำงานผิดปกติของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะต่อมหมวกไต ปัจจุบันจึงมียากลุ่มต้านการอักเสบ Calcineurin inhibitors ทดแทนยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงในเด็กที่ต้องทายาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ แต่ราคายังค่อนข้างสูง จึงพิจารณาเลือกใช้เป็นรายๆไป และพิจารณาใช้ในผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และระหว่างนั้นแพทย์จะเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน ร่วมกับรับประทานยาลดอาการคันควบคู่กันด้วย
 
ถึงจะมียาที่ช่วยรักษาโรคนี้ได้ แต่พ่อแม่เองก็ต้องคอยดูแลลูกน้อยให้มากที่สุดร่วมด้วยเช่นกัน ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ สารเคมี  เลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบายเช่นผ้าฝ้าย พยายามเลี่ยงอากาศร้อนจัด อย่าให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ในเด็กเล็กที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้งดอาหารที่สงสัยว่าแพ้ได้ เช่น ไข่ นมวัว ข้าวสาลี อาหารทะเล
 
เมื่อจัดระเบียบสภาพแวดล้อม และการใช้ชีวิตให้ได้ตามนี้แล้ว อีกอย่างที่สำคัญก็คือการดูแลรักษาผิวให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ เวลาอาบน้ำไม่ควรนานเกินไป และอุณหภูมิของน้ำก็ไม่ควรร้อนหรือเย็นจัด เพราะจะทำให้ผิวแห้ง หลังอาบน้ำ ซับตัวให้หมาดๆ แล้วทาครีมเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนังภายใน 3 นาที เพื่อให้ผิวเก็บความชุ่มชื่นได้มากที่สุด ทั้งนี้ครีมที่ใช้ไม่ควรมีส่วนประกอบของน้ำหอมและสารกันบูด เพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้มากขึ้น
 
แม้ว่าจะมีแนวทางการรักษาที่ชัดเจนแล้ว แต่ในเรื่องการป้องกันนั้นยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งข้อมูลจากmeta-analysis เผยว่าการป้องกันในกลุ่มเด็กตั้งแต่แรกเกิด ควรให้นมแม่อย่างเดียว 4 เดือนแรก จะช่วยลดการเกิดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้ แต่ในกรณีที่กินนมแม่ไม่ได้ ให้เลือกใช้นมที่เป็นสูตรพิเศษที่ย่อยตัวโปรตีนให้เล็กลง (extensively หรือ partially hydrolyzed whey cow’s milk formula) สามารถลดการเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating