บทความสุขภาพ

มนุษย์ออฟฟิศระวัง “หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นทับเส้นประสาท”

Share:

ปวดหลังบ่อย ๆ จนร้าวลงขาและมีอาการชา อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นทับเส้นประสาทที่มนุษย์ออฟฟิศควรระวัง

พฤติกรรมนั่งทำงานนาน ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักมากที่สุด จึงมีโอกาสที่จะเกิดหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม แตกและปลิ้นมากกว่าหมอนรองกระดูกสันหลังในระดับอื่น

นายแพทย์เอกพล ลาภอำนวยผล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า หมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral disc) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยส่วนทีอยู่บริเวณศูนย์กลาง มีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายเจลลี่ ,ส่วนที่อยู่โดยรอบ มีลักษณะยืดหยุ่นเป็นพังผืด และส่วนที่ยึดติดกับข้อกระดูกสันหลัง มีลักษณะคล้ายกระดูกอ่อน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวและรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลัง หากกระดูกสันหลังถูกใช้งานหนัก ใช้งานผิดท่า รับน้ำหนักมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง หรือแม้แต่ความเสื่อมตามอายุ ก็อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกและปลิ้นออกมาจนไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง ปวดสะโพก ร้าวลงขาหรือเท้า รวมทั้งมีอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วย หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นควบคุมการขับถ่ายลำบาก

“โดยมากจะพบผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นทับเส้นประสาทจากความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น แต่ในปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้ในช่วงอายุที่น้อยลง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรืออาจนั่งผิดท่าร่วมด้วย รวมถึงการยกของหนักผิดท่า นอกจากนี้การได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอและการสูบบุหรี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ง่ายเช่นกัน” นายแพทย์เอกพลกล่าว

สำหรับการรักษาโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท ในรายที่อาการไม่รุนแรงหรืออยู่ในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการใช้ยาแก้ปวด กายภาพบำบัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 4 – 6 สัปดาห์ อาจต้องใช้วิธีผ่าตัด โดยปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดด้วยกล้อง Endoscope ซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กไม่ถึง 1 เซนติเมตร ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ ส่งผลให้ความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดน้อยลง ใช้ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น

แม้ว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทที่เกิดจากความเสื่อมตามวัยได้ แต่เราสามารถชะลอการเกิดและลดความรุนแรงของอาการได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ทั้งการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายตามความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นั่ง ยืน ก้ม เงยและยกของหนักในท่าที่ถูกต้อง เปลี่ยนอิริยาบถขณะนั่งทำงานบ่อย ๆ  รวมทั้งระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่อาจส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลัง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (7 )
  • Your Rating