

มะเร็งไต (Kidney Cancer) หนึ่งในภัยเงียบที่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวในระยะแรก จึงมักตรวจพบเมื่อโรคลุกลามหรือก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดอาการ เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน, ปวดบริเวณบั้นเอวหรือหลัง, คลำได้ก้อนที่หน้าท้อง, อ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร, น้ำหนักลด, ตรวจพบภาวะซีด หรือมีไข้เรื้อรัง
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งไต
แม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มะเร็งไตมีปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง ได้แก่
- การสูบบุหรี่
- โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- ความดันโลหิตสูง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- พันธุกรรมผิดปกติบางชนิด เช่น VHL
- ประวัติมะเร็งไตในครอบครัว
วิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งไต
การวินิจฉัยมะเร็งไตต้องอาศัยการตรวจหลายด้านร่วมกัน ได้แก่:
- การทำอัลตราซาวนด์ , การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), หรือ การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจหาก้อนผิดปกติที่ไตและภายในช่องท้อง
- การตรวจเลือดและปัสสาวะ ช่วยประเมินการทำงานของไตและประเมินความรุนแรงของโรค
- การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) ทำในกรณีที่ภาพจาก CT Scan หรือ MRI ยังไม่ชัดเจนในการวินิจฉัยโรค เป็นการนำตัวอย่างเนื้อจากก้อนที่ไตส่งตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยก่อนเริ่มการรักษา
วิธีรักษามะเร็งไต
การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค อาการ โรคร่วม และความพร้อมของผู้ป่วย โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
- การผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดนำเนื้อไตออกบางส่วน หรือการผ่าตัดนำเนื้อไตออกทั้งหมด เป็นการผ่าตัดเฉพาะข้างที่เป็นโรค เพื่อนำก้อนมะเร็งออกไป โดยยังเก็บไตข้างที่ปกติไว้ การเลือกวิธีการผ่าตัดขึ้นกับขนาดของก้อนมะเร็งที่ไตและระยะของโรค
- การรักษาด้วยยามุ่งเป้า หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด มีบทบาททั้งในระยะเริ่มต้น (ให้หลังผ่าตัด) เพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด และในระยะลุกลามเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ลดขนาดของก้อน ควบคุมโรค ทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือผู้ป่วยบางรายสามารถหายขาดได้
- รังสีรักษา หรือการฉายแสง เพื่อบรรเทาอาการจากตัวโรค เช่น อาการปวด หรือมีเลือดออก หรือ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้
หากพบอาการผิดปกติ อย่าชะล่าใจ ควรเข้ารับการตรวจทันที เพราะการพบมะเร็งไตตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
Life Cancer Center โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating