บทความสุขภาพ

รู้ทันก่อนสาย ภัยร้าย “อ้วน” เสี่ยงโรค !

Share:

ในแต่ละปีมีผู้ป่วยจาก “โรคอ้วน” เพิ่มสูงขึ้นทุกเพศทุกวัยอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในโรคฮิตของ “วัยทำงาน” โดยเฉพาะชาวออฟฟิศเพราะมีการใช้พลังงานในแต่ละวันน้อย ขาดการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่มักจะประกอบด้วยแป้งและไขมัน เพราะต้องการความรวดเร็วและสะดวกสบาย นอกจากนี้ อาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารหนัก ๆ ในมื้อเย็นหรือมื้อดึก ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ส่งเสริมให้เป็นโรคอ้วนมากขึ้น

นาวาโทนายแพทย์บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคอ้วนปัจจุบันพบได้บ่อยมากขึ้นในคนวัยทำงานที่ไม่มีเวลาพักผ่อนหรือมีเวลาดูแลตัวเองน้อยลง โรคอ้วนเกิดจากการที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนมีหลายสาเหตุ ได้แก่ การรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต แป้ง อาหารหวาน ของหวาน เบเกอรี่ ขาดการออกกำลังกาย กรรมพันธุ์ ซึ่งมักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย หรือมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ การกินยาบางชนิด เช่น ยาคุม สเตียรอยด์ และเมื่ออายุเยอะขึ้น ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง พลังงานจึงถูกเก็บในของรูปของไขมันแทน ถ้าเมื่อไหร่ที่ได้รับมากเกินไปจะเกิดการสะสมของไขมันตามจุดต่าง ๆ ในร่างกาย ถ้าสะสมบริเวณช่องท้อง มักจะเรียกว่า “อ้วนลงพุง” ยิ่งสะสมมาก ยิ่งส่งผลเสีย และทำให้โรคร้ายตามมา

“ปัญหาสุขภาพและโรคที่ตามมาจากโรคอ้วน สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 โรคเมตาบอลิกซินโดรม ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคเกาท์ กลุ่มที่ 2 โรคหัวใจและปอด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคนอนกรน กลุ่มที่ 3 โรคทางเดินอาหารและตับ ได้แก่ กรดไหลย้อน ตับอักเสบจากไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี กลุ่มที่ 4 โรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับ ลำไส้ใหญ่ ปากมดลูก รังไข่ ตับอ่อน และยังส่งผลต่อร่างกายด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ข้อเข่ากระดูกเสื่อมเร็ว ปวดหลัง ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือขาดประจำเดือนขาดได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคนอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนผอม ทำให้โรคอ้วนเป็นโรคที่อันตรายมากกว่าที่คิด” นาวาโทนายแพทย์บุญเลิศ กล่าว

นาวาโทนายแพทย์บุญเลิศ กล่าวว่า คนทั่วไปควรมีค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 kg/m2 หากค่าเกินกว่า 25 จะถือว่าผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ

โรคอ้วน และหากว่าค่าเกินกว่า 30 ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ควรเข้าสู่กระบวนการลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการลดน้ำหนักที่หลากหลาย ทั้งวิธีแบบธรรมชาติหรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็น 1 ในวิธีการลดน้ำหนักโดยสามารถทำได้ด้วยการควบคุมอาหาร ด้วยการลดคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป รวมถึงอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม พร้อมกับหันมารับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำเปล่าก่อนรับประทานอาหารครึ่งชั่วโมง เพื่อลดความอยากและรับประทานอาหารได้น้อยลง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีทางเลือกในการลดน้ำหนักด้วยการใส่ “บอลลูนลดน้ำหนัก” ในกระเพาะอาหารผ่านการส่องกล้อง จะช่วยลดปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและรู้สึกอิ่มท้องได้นานขึ้น ซึ่งเป็นวิธีปรับพฤติกรรมการรับประทานในระยะยาว รับประทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงและอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากใครกำลังมีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน และมองหาวิธีลดน้ำหนัก ควรเข้ามารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอกจากความสวยงามของรูปร่างแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นและยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2960 , 2961 , 2966

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (7 )
  • Your Rating