บทความสุขภาพ

คำถามยอดฮิต ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยากรู้

Share:

width="100%"

คำถามที่ 1 : การดื่มนมวัวระหว่างตั้งครรภ์ มีผลอย่างไร
คำตอบ : การดื่มนมวัวระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือดคุณแม่ เมื่อคุณแม่มีแคลเซียมสูง จะช่วยป้องกันเรื่องภาวะครรภ์เป็นพิษได้ มีส่วนป้องกันครรภ์เป็นพิษได้ในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ที่ระดับแคลเซียมร่างกายต่ำ ทั้งนี้ ปริมาณที่เหมาะสมให้ปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ เนื่องจากการดื่มนมวัวในปริมาณที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ทารกแพ้นมวัวได้

คำถามที่ 2 : การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่ อย่างไร ควรหยุดเมื่อใด
คำตอบ : ยังไม่มีผลวิจัยยืนยันอย่างชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ แต่คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เช่น เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด หากมีผิดปกติควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์และรีบปรึกษาแพทย์

คำถามที่ 3 : การฉีดยาหรือวัคซีนต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนบาดทะยัก จำเป็นหรือไม่ อย่างไร
คำตอบ : ในปัจจุบัน องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดให้วัคซีนบาดทะยักเป็นวัคซีนที่คุณแม่ควรฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักในทารกแรกคลอด นอกจากนี้ คุณแม่ยังควรได้รับวัคซีนอื่น ๆ เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือคอตีบ+บาดทะยักในไตรมาสที่ 3 ก่อนคลอดบุตร ทั้งนี้ การรับวัคซีนแต่ละชนิดควรสอบถามและปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์อีกครั้ง

คำถามที่ 4 : การรับประทานอาหารเสริมหรือยาบำรุงระหว่างตั้งครรภ์จำเป็นหรือไม่
คำตอบ : นอกจากทานอาหารในครบ 5 หมู่แล้ว สารอาหารที่คุณแม่ควรทานเพิ่ม คือ ธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของฮีโมโกบินในเม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย และหายใจไม่สะดวก ทั้งนี้ การรับประทานธาตุเหล็ก ควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะตามที่ร่างกายต้องการ คุณแม่จึงไม่ควรรับประทานเองโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ อีกหนึ่งสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ คือ แคลเซียม และ โฟเลต ที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ เพื่อช่วยป้องกันภาวะหลอดไขสันหลังผิดปกติในทารก (Neural tube defect) และยังมีข้อมูลวิจัยเพิ่มเติมว่าช่วยป้องกันภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด ทั้งนี้ทั้งนั้นควรรับประทานก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างต่อเนื่องตลอดอายุการตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่ไม่สามารถทานอาหารได้ครบทุกหมู่ ควรรับประทานวิตามินเสริมเพื่อทดแทน แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากการได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินไป อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

คำถามที่ 5 : การมีเนื้องอกที่มดลูกระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอันตรายหรือไม่ อย่างไร
คำตอบ : การมีเนื้องอกที่มดลูกระหว่างตั้งครรภ์มีระดับความเสี่ยงต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของเนื้องอก หากตรวจพบ คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินอันตรายจากเนื้องอกนั้น ๆ และทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น ตรวจหาเนื้องอกและทำการรักษาให้หายก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยลดภาวะครรภ์เสี่ยงได้

คำถามที่ 6 : การใช้ยาต่าง ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ยารักษาสิว มีอันตรายอย่างไร และหากจำเป็นต้องใช้ สามารถหลีกเหลี่ยงได้อย่างไร
คำตอบ : ยารักษาสิวบางกลุ่ม ทั้งชนิดทาและชนิดรับประทาน เช่น ยากลุ่มกรดวิตามินเอ หรือ เรตินอยด์ ได้แก่ Tretinoin , Isotretinoin , Adapalene และ Tazarolene จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความพิการได้ ดังนั้น ก่อนการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งทุกครั้งว่าตนเองตั้งครรภ์ เพื่อได้รับการจ่ายยาที่เหมาะสม

คำถามที่ 7 : น้ำหนักที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงอายุครรภ์เป็นอย่างไร
คำตอบ : โดยทั่วไปตลอดอายุการตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 12 – 15 กิโลกรัม โดยน้ำหนักของคุณแม่มักจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 2 กิโลกรัม (ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตั้งต้นหรือดัชนีมวลกายของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์) ทั้งนี้ ในการฝากครรภ์แต่ละครั้ง แพทย์ที่ปรึกษาจะช่วยดูแลเรื่องน้ำหนักของคุณแม่อยู่แล้ว

คำถามที่ 8 : ภาวะครรภ์เสี่ยงคืออะไร แล้วเราจัดอยู่ในประเภทนั้นหรือไม่ หากมีภาวะเสี่ยงหรือป่วย เช่น การเป็นไทรอยด์ หรือเบาหวานควรทำอย่างไร
คำตอบ : ภาวะครรภ์เสี่ยง หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตได้ทั้งในขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น คุณแม่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เคยมีประวัติคลอดบุตรยาก ผ่าตัดมดลูก แท้งบุตร รวมถึงตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เมื่อไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล แพทย์จะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยภาวะครรภ์เสี่ยง โดยทำการซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ วัดความดันโลหิต ตรวจดูยอดมดลูกเพื่อประมาณขนาดทารก หากพบว่ามีภาวะเสี่ยง เช่น เป็นโรคเบาหวาน ไทรอยด์ หรือ มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรรักษาโรคนั้น ๆ ให้หายก่อนการตั้งครรภ์ โดยควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษา

คำถามที่ 9 : ระหว่างตั้งครรภ์ มีอาการปวดนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือบางครั้งก็มีอาการชา เป็นเพราะอะไร อันตรายหรือไม่
คำตอบ : ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลให้เอ็นคลายตัว จึงทำให้ข้อต่อกระดูกมีการหย่อนตัว ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อก็ทำงานมากขึ้น จึงเกิดอาการปวดตามข้อมากขึ้น ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การใส่รองเท้าส้นสูง และควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ หากมีอาการปวดหลัง ควรนั่งพักและลดการเดิน ทั้งนี้ หากอาการเจ็บปวดส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือสร้างความรำคาญใจ คุณแม่สามารถใช้ยานวด ทาเพื่อบรรเทาอาการได้ โดยปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทานวด เพราะยาบางตัว อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ สำหรับคุณแม่บางท่านอาจมีอาการชาตามข้อมือได้ เนื่องจากอาการบวมของพังผืดบริเวณข้อมือ อาจบีบรัดเส้นประสาทบริเวณแขนและข้อมือ ทำให้เกิดอาการชาบริเวณปลายประสาท อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหรือชาของคุณแม่ไม่บรรเทาลง หรือมีความเจ็บปวดมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์

คำถามที่ 10 : วิธีป้องกันและรักษา หากเป็นริดสีดวงทวารระหว่างตั้งครรภ์
คำตอบ : โดยทั่วไป อาการของริดสีดวงทวารจะเป็นมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากคุณแม่มักมีอาการท้องผูกง่ายขึ้น เกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นมีการกดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการไหลเวียนของเลือดที่มากขึ้น อาจทำให้หลอดเลือดบริเวณรอบทวารหนักเกิดการขยายตัวและโป่งพองได้ ทั้งนี้ อาจสังเกตอาการริดสีดวงทวารจากการคลำได้ก้อนที่รูทวาร ร่วมกับถ่ายปนเลือด ซึ่งเป็นอาการคล้ายริดสีดวงทวาร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา วิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร ทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือ ธัญพืช เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดิน หรือ เดินในน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ นอกจากนี้ควรเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูกได้ ทั้งนี้ คุณแม่ควรขับถ่ายให้ได้ทุก ๆ 1 – 2 วัน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี 
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3200, 3204

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating