บทความสุขภาพ

ERCP + LC ส่องกล้องท่อทางเดินน้ำดี รักษานิ่วในถุงน้ำดีและนิ่วในท่อน้ำดี พร้อมกันในครั้งเดียว

Share:

ขึ้นชื่อว่า “ นิ่วในถุงน้ำดี ” มักมีความซับซ้อนในการรักษา โดยเฉพาะหากปล่อยทิ้งไว้จนนิ่วหลุดมาอุดตันที่ท่อน้ำดี จะยิ่งทำให้การรักษามีความยากมากขึ้น เพราะการรักษานิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในท่อน้ำดี จำเป็นต้องทำผ่าตัด 2 หัตถการ สมัยก่อนผู้ป่วยจึงต้องถูกดมยาสลบทั้ง 2 ครั้ง แต่ในปัจจุบัน มีเทคนิคที่ให้การรักษานิ่วในถุงน้ำดีและนิ่วในท่อน้ำดีได้พร้อมกันในครั้งเดียว

นายแพทย์รพีพัฒน์ ถนอมเพ็ชรสง่า ศัลยแพทย์ส่องกล้องตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โดยปกติ อาการของนิ่วในถุงน้ำดี ที่พบได้คือ ปวดจุกแน่นท้องหลัง รับประทานอาหารนาน 30 นาทีขึ้นไป มีอาการปวดแบบรุนแรงบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงด้านขวา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มมีอาการปวดท้องนานเกิน 6 ชั่วโมง อาการจุกแน่นท้องไม่ดีขึ้นร่วมกับมีไข้ ให้สงสัยภาวะถุงน้ำดีอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องรีบผ่าตัดภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อได้ผลการรักษาที่ดี

นอกจากนี้ เมื่อ นิ่วในถุงน้ำดีหลุดมาอุดตัน ตามส่วนต่าง ๆ ในทางเดินน้ำดี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้นได้ เช่น หากนิ่วอุดตันท่อน้ำดี และน้ำดีไหลผ่านไปยังรูเปิดท่อน้ำดีในลำไส้เล็กส่วนต้นไม่ได้ จะทำให้เกิดภาวะดีซ่าน ตาเหลืองตัวเหลือง หากท่อน้ำดีมีการติดเชื้อโรคจากลำไส้เข้าไปร่วมด้วยจะก่อให้เกิดภาวะท่อน้ำดีอักเสบ หฝถ้าโชคร้ายกว่านั้นนิ่วไปอุดตันบริเวณรูเปิดท่อร่วมระหว่างตับอ่อนและท่อน้ำดี จะทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ อาจจะมีอาการปวดท้อง มีภาวะอักเสบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จำเป็นต้องส่องกล้องหรือผ่าตัดฉุกเฉินภายใน 12 ชั่วโมง เพื่อจัดการระบายน้ำดีให้สามารถไหลผ่านได้เร็วที่สุด

การผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดี ร่วมกับนิ่วในท่อน้ำดีแบบดั้งเดิม จะเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และกรีดเปิดท่อน้ำดี เพื่อล้างเอานิ่วออกจนหมด และใส่สายระบายท่อน้ำดียื่นออกมาทางหน้าท้องค้างไว้อย่างน้อย 6 – 8 สัปดาห์ ต่อมาวิวัฒนาการทางการแพทย์มีการพัฒนาขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรักษา โดยแบ่งเป็น 2 หัตถการได้แก่

  1. การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดถุงน้ำดีออก (Laparoscopic cholecystectomy or LC)
  2. การส่องกล้องท่อทางเดินน้ำดีและท่อตับอ่อน หรือ ERCP (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography) ซึ่งการทำ ERCP เป็นการส่องกล้องผ่านทางปาก จากนั้นใช้บอลลูนดึงนิ่วให้หลุดออกจากท่อน้ำดี และปล่อยให้นิ่วลงไปตามลำไส้ โดยนิ่วจะออกมาจากร่างกายผ่านการขับถ่าย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ไม่เกิดแผลผ่าตัดที่ใหญ่จากการรักษานิ่วในท่อน้ำดี

แต่ทั้ง 2 หัตถการนี้มักทำกันคนละรอบ ทำให้ผู้ป่วยต้องถูกวางยาสลบถึง 2 ครั้ง

ในปัจจุบัน มีการปรับเทคนิคการรักษา โดยใช้ ERCP ร่วมกับการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดถุงน้ำดี(LC)ออกในการรักษาพร้อมกัน ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนนิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดีและท่อน้ำดี โดยผู้ป่วยจะถูกวางยาสลบเพียงครั้งเดียว โอกาสสำเร็จมีมากกว่า 90 % ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยผู้ป่วยที่สามารถทำ ERCP ร่วมกับการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดถุงน้ำดี(LC)ได้ จะต้องมีขนาดนิ่วในท่อน้ำดีไม่ใหญ่มาก เพราะหากขนาดของนิ่วใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร โอกาสทำสำเร็จในครั้งเดียวจะน้อยกว่านิ่วขนาดเล็ก

ท่อน้ำดีมีทั้งส่วนต้น และส่วนปลาย ซึ่งส่วนปลายจะฝังอยู่ในตับอ่อนและมีรูเปิดร่วมกับท่อตับอ่อน การทำหัตถการรักษาผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีตั้งแต่ตอนแรกนั้นได้ผลดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ จนนิ่วหลุดไปที่ท่อน้ำดีใหญ่ ซึ่งจะต้องการการผ่าตัดที่ซับซ้อนขึ้น เพราะฉะนั้นหากตรวจพบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี ควรตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง หากมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ควรตัดสินใจรักษาอย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะนิ่วก้อนเล็กๆอาจจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

นายแพทย์รพีพัฒน์กล่าว

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2200

  • Readers Rating
  • Rated 4.1 stars
    4.1 / 5 (11 )
  • Your Rating