บทความสุขภาพ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันดีกว่ารักษา ด้วยการส่องกล้อง

Share:

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อยของคนไทย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นทุกปี และอายุของผู้ป่วยก็น้อยลงทุกปีเข่นกัน สาเหตุจริง ๆ ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ว่ามาจากสาเหตุใด แต่คาดว่ามีสาเหตุหลักมาจากอาหาร ซึ่งด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้มีพฤติกรรมการรับประทานที่เน้นเร็ว ง่าย และสะดวก เช่น รับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกใหม่, อาหารแช่แข็ง, หรืออาหารที่แปรรูปมาแล้ว เช่น เนื้อแดงและไส้กรอก

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเริ่มมีมะเร็งเกิดขึ้น จะไม่รู้ตัวหรือไม่มีอาการอะไร เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกจะไม่มีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน เมื่อเริ่มมีอาการแสดงของโรค ได้แก่ การขับถ่ายมีเลือดหรือมูกเลือดปน ถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย แน่นท้อง ท้องโต หรือคลำเจอก้อนในท้อง ก็กลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ไปแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด การฉายแสง ให้ยาเคมีบำบัด หรือบางรายอาจจะต้องมีลำไส้มาเปิดหน้าท้อง (colostomy) ตลอดชีวิต

ด้วยความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้เรารู้ว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดจากติ่งเนื้อหรือ Polyp ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อมีติ่งเนื้อเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไร จนติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่และกลายเป็นมะเร็งแล้วจึงเริ่มมีอาการเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้ ด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แม้ว่าติ่งเนื้อนั้นจะมีขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว นอกจากนี้ยังใช้ร่วมกับเทคนิคการย้อมสีพื้นผิวและเส้นเลือดของติ่งเนื้อ ด้วยแสงชนิดพิเศษที่เรียกว่า Magnify Narrow Band Imaging, Magnify NBI ทำให้สามารถบอกได้ว่าติ่งเนื้อที่พบเป็นติ่งเนื้อชนิดใด กลายเป็นมะเร็งแล้วหรือยัง มีการลุกลามแล้วหรือไม่ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมกับติ่งเนื้อนั้น ๆ 

เมื่อมีการตรวจพบติ่งเนื้อจากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้ว แพทย์สามารถทำการตัดติ่งเนื้อออก ก่อนที่ติ่งเนื้อนั้นจะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ตรงจุดและปลอดภัยกับร่างกายมากที่สุด นอกจากนี้ด้วยเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ที่เรียกว่า Endoscopic Submucosal Dissection หรือ ESD ทำให้สามารถตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่ ที่แม้บางส่วนมีการกลายเป็นมะเร็งแล้ว แต่ยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ออกได้ผ่านทางกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัดหน้าท้อง และในบางรายไม่ต้องยกลำไส้เปิดทางหน้าท้อง (colostomy)โดยไม่จำเป็น แต่ทั้งนี้ หลังจากการผ่าตัดผ่านกล้องแล้วผู้ป่วยควรเข้ารับการส่องกล้องติดตามอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์

อย่างไรก็ตาม การส่องกล้องเพื่อตรวจหาติ่งเนื้อ เปรียบเสมือนการตรวจเช็คร่างกาย โดยไม่ต้องรอให้เกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากกว่า 45 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ และควรเลือกตรวจกับแพทย์ที่มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีการส่องกล้อง เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยที่แม่นยำ พร้อมกันนี้ ควรลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกใหม่, อาหารแช่แข็ง, หรืออาหารที่แปรรูปมาแล้ว เช่น เนื้อแดงและไส้กรอก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 2960

  • Readers Rating
  • Rated 4.2 stars
    4.2 / 5 (18 )
  • Your Rating