บทความสุขภาพ

สังเกตเลย! ปวดหัวอย่างไร ต้องระวัง “เนื้องอกในสมอง”

Share:

สังเกตเลย! ปวดหัวอย่างไร ต้องระวัง “เนื้องอกในสมอง”

ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน” อาจดูเหมือนอาการเจ็บป่วยทั่วไป แต่หากสังเกตตนเองแล้วพบความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การพูด การได้ยิน การมองเห็น อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและการทำงานของสมอง โดยโรคหนึ่งที่น่ากังวลคือ “เนื้องอกในสมอง” ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจคุกคามรุนแรงถึงขั้นอัมพาตครึ่งซีก หรือลุกลามเป็นมะเร็งในระยะอันตรายได้

ความรุนแรงของเนื้องอกสมอง

  • กลุ่มที่ 1 เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ก้อนเนื้องอกเติบโตช้า สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้
  • กลุ่มที่ 2 ความรุนแรงปานกลาง ก้อนเนื้องอกมักแทรกในเนื้อสมอง ผ่าตัดและรักษาได้แต่ไม่หายขาด เนื้องอกเติบโตช้า ผู้ป่วยจึงสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี
  • กลุ่มที่ 3 จัดเป็นมะเร็ง รักษาไม่หายขาด
  • กลุ่มที่ 4 มะเร็งชนิดร้ายแรง เนื้องอกเติบโตเร็ว ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

สาเหตุของเนื้องอกในสมอง

          เนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อธรรมดา เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลล์สมอง หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตในอัตราที่ผิดปกติ เนื้อเยื่อที่เกิดจากเซลล์ผิดปกติเหล่านี้ จึงก่อตัวเป็นเนื้องอกบริเวณสมอง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่สมองและระบบประสาทใกล้เคียง

          เนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อร้าย อาจเกิดจากเซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นที่สมอง หรือมีเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นแล้วแพร่ลามเข้าสู่สมองทางกระแสเลือด ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย มีอัตราการเจริญเติบโตและสร้างความเสียหายแก่ร่างกายมากกว่าเนื้องอกธรรมดา

สังเกตเลย! อาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ถึงเนื้องอกในสมอง

  • ปวดหัวบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆมีอาการปวดตอนกลางคืนจนต้องตื่นจากการนอน
  • คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม
  • พูดจาติดขัด มีปัญหาในการสื่อสาร
  • มีปัญหาการได้ยิน
  • มีปัญหาในการมองเห็น เห็นภาพเบลอ หรือภาพซ้อน
  • มีปัญหาด้านความจำ สับสน มึนงง
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ บุคลิกภาพ พฤติกรรม
  • มีปัญหาการทรงตัว
  • สูญเสียการรับรู้ของประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหวแขนขา
  • มีอาการชักทั้งที่ไม่เคยมีประวัติชักมาก่อนโดย
  • แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาตครึ่งซีก

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเนื้องอกในสมอง  

อายุ เนื้องอกในสมองสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แต่มักพบมากในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

รังสีอันตราย การได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกาย เช่น รังสีจากการฉายแสงมะเร็ง รังสีจากระเบิดปรมาณู พันธุกรรม เนื้องอกในสมองอาจถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นได้

รักษาอย่างไร หากพบเนื้องอกในสมอง?

หากเนื้องอกมีขนาดเล็ก ไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แพทย์อาจนัดติดตามอาการเป็นระยะ หรือพิจารณาใช้การรักษาแบบรังสีศัลยกรรม (Radiosurgery)แต่หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ และมีอาการกระทบต่อร่างกาย แพทย์จะแนะนำ “การผ่าตัด” ซึ่งนับเป็นวิธีการหลักในการรักษาเนื้องอกสมองเกือบทุกชนิด โดยหากเป็นเนื้องอกบริเวณโพรงจมูก ต่อมใต้สมองส่วนหน้า หรือโพรงสมอง แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope ในกรณีที่เป็นเนื้องอกบริเวณไขสันหลัง หรือสมองจุดอื่น ๆ จะใช้การผ่าตัดผ่านกล้องMicroscope หากเนื้องอกไม่ลุกลามใหญ่โตจนเกินไปจะสามารถผ่าตัดออกได้หมด

กรณีเนื้องอกมีขนาดใหญ่ อาจต้องผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะ และหากตำแหน่งของเนื้องอกอยู่ใกล้ส่วนสำคัญ และเสี่ยงต่อการทำลายเนื้อสมอง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้องอกเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา หรือตรวจทางเซลล์วิทยา หากพบว่าเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง จึงพิจารณาในการฉายรังสี หรือทำเคมีบำบัดต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเนื้องอกในสมอง ขณะที่บางปัจจัยเสี่ยงก็ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น อายุ และกรรมพันธุ์ แนวทางการป้องกันจึงทำได้เพียงระมัดระวังในการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในสมองและมะเร็ง เช่น รักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีรังสี มีสารพิษหรือสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาอาการผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อป้องกันการลุกลามต่อไป

  • Readers Rating
  • Rated 3.5 stars
    3.5 / 5 (80 )
  • Your Rating