บทความสุขภาพ

นิ้วล็อก รักษาได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดแผล

Share:

     โรค นิ้วล็อก หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา อาจทำให้ปลอกเส้นเอ็นนิ้วเสียหายถาวร ปัจจุบันแพทย์สามารถรักษาด้วยเทคนิคการสะกิด แผลเล็ก เจ็บน้อย ใช้เวลาเพียง 5 นาที เท่านั้น

นพ.นรฤทธิ์ ล้วนจำเริญ แพทย์เวชศาสตร์ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคนิ้วล็อกเกิดจากปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วอักเสบและหนาขึ้น ทำให้เอ็นที่อยู่ภายในไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ มักเกิดกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง และนิ้วนาง หรืออาจเป็นพร้อมกันหลายนิ้ว หรือนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง เป็นพร้อมกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อก

ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ใช้มือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การถือหรือแบกของหนักเป็นเวลานาน ใช้อุปกรณ์ที่ต้องออกแรงกดต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์มากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ ซึ่งสามารถสังเกตุเบื้องต้นได้จากการที่โคนนิ้วปวดบวมตึง ข้อต่อนิ้วติดขัดในขณะเหยียดหรืองอ มักพบบ่อยในกลุ่มคนที่มีอายุ 40 – 60 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ นิ้วล็อกยังเกิดจากโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณเนื้อเยื่อที่มือด้วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เบาหวาน โดยอาการของโรคมักปรากฎมากในช่วงตื่นนอนตอนเช้าหรือตอนที่ใช้งานมือหนักต่อเนื่อง

“ถ้ามีอาการข้อต่อบริเวณนิ้วแข็ง ติดขัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ส่วนการรักษาอาการนิ้วล็อกนั้นมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยอาการในระยะแรกสามารถรักษาได้ด้วยการกินยา ทำกายภาพบำบัด  ฉีดยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะได้ผลดีในระยะ 4 – 6 เดือนแรก ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมแบบเดิม ๆ และพักการใช้มือให้เพียงพอด้วย แต่หากรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด” นพ.นรฤทธิ์ กล่าว

การรักษาโรคนิ้วล็อก

ปัจจุบันแพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษ พร้อมด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ โดยฉีดยาชาที่มือแล้วสอดเข็มเข้าไปบริเวณโคนนิ้วที่มีอาการนิ้วล็อก จากนั้นใช้ปลายเข็มสะกิดปลอกหุ้มเอ็นนิ้ว ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่รัดเส้นเอ็นให้ขาดออกจากกันเหมือนการผ่าตัดปกติ ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 5 นาที และสามารถโดนน้ำได้ตามปกติหลังครบ 24 ชั่วโมง ในขณะที่การผ่าตัดแบบเดิมต้องเปิดแผล ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1  ชั่วโมง และห้ามแผลโดนน้ำนาน 10 – 14 วัน ทั้งนี้ นิ้วที่ผ่านการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ แต่หากยังไม่หยุดพฤติกรรมเสี่ยงก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดนิ้วล็อกกับนิ้วอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รักษา

นพ.นรฤทธิ์ ยังย้ำอีกว่า หากมีอาการนิ้วล็อกอย่าปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง เพราะอาจทำให้ปลอกเส้นเอ็นเสียหายถาวร แม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2316 , 2332

  • Readers Rating
  • Rated 3.9 stars
    3.9 / 5 (19 )
  • Your Rating