บทความสุขภาพ

ไส้เลื่อน อย่าปล่อยไว้ อันตรายกว่าที่คิด

Share:

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่าโรคไส้เลื่อนนั้นมักเกิดขึ้นกับผู้ชายเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ชายที่ไม่ชอบใส่กางเกงใน แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะโรคไส้เลื่อนเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย คุณผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

ไส้เลื่อนคือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาจากตำแหน่งเดิม และทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้ายก้อนตุง ซึ่งเกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลังเช่น จากการผ่าตัด ภาวะแรงดันที่มากผิดปกติภายในช่องท้อง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ การเบ่งจากภาวะท้องผูก การไอหรือจาม การยกของหนัก โดยภาวะไส้เลื่อนสามารถแบ่งออกเป็นประเภทตามบริเวณตำแหน่งการเกิดโรคที่พบได้บ่อยคือ

  1. ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ  เป็นภาวะไส้เลื่อนซึ่งเกิดจากความผิดปกติของผนังช่องท้องตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดภายหลังก็ได้ โดยลำไส้เคลื่อนมาติดคาที่บริเวณขาหนีบ หรือลงไปในถุงอัณฑะ แต่บางกรณีลำไส้อาจเคลื่อนตัวแต่ไม่ติดคายังบริเวณที่เกิด อาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบ   มักมาพร้อมกับอาการปวดหน่วง ๆ หรืออาการปวดแสบปวดร้อน และจะยิ่งปวดมากขึ้นหรือเห็นได้ชัดหากออกกำลังกาย หรือเกิดอาการไอ จาม หรือออกแรงเบ่ง
  2. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาตุงที่บริเวณกลางหน้าท้อง ทำให้เห็นลักษณะเป็นก้อนนูนบริเวณสะดือ
  3. ไส้เลื่อนเนื่องจากการผ่าตัด  เป็นภาวะไส้เลื่อนที่อาจเกิดขึ้น หากผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดที่บริเวณช่องท้องมาก่อนทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง

นอกจากนี้ก็ยังมีภาวะไส้เลื่อนบริเวณอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ เช่น ไส้เลื่อนบริเวณกระบังลม ไส้เลื่อนบริเวณหน้าท้องเหนือสะดือ หรือไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งก็เกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องเช่นกัน

อาการของโรคไส้เลื่อน..

อาการของไส้เลื่อนที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ผู้ป่วยรู้สึกมีก้อนลักษณะตุงอยู่บริเวณที่มีลำไส้เคลื่อนตัวออกมา และมีอาการเจ็บโดยเฉพาะเวลาที่ก้มตัว ไอ หรือยกสิ่งของ บางรายอาจมีความผิดปกติที่ช่องท้อง รู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน หากมีอาการไส้เลื่อนที่บริเวณกระบังลม อาจทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอก หรือมีปัญหาในการกลืน ทว่าผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการใดๆเลย มีแต่เพียงอาการให้เห็นภายนอกเท่านั้น

หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนอย่างเฉียบพลัน หรือภาวะไส้เลื่อนเดิมที่เป็นหนักขึ้น โดยมักพบว่าผู้ป่วยมีอาการอาเจียน ท้องผูก หรือบริเวณที่ไส้เลื่อนออกมาตุงที่ผนังหน้าท้องมีลักษณะแข็ง จนไม่สามารถใช้มือกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ ควรรีบพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณว่า เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ในบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนได้ เกิดอาการบวม เสี่ยงต่อภาวะลำไส้ตาย ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อรักษาอาการ

ควรสังเกตความผิดปกติภายนอกของร่างกาย หากมีส่วนใดในบริเวณหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบมีลักษณะนูนเป็นก้อนออกมามากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด

สาเหตุของโรคไส้เลื่อน…

เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้อง ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการเกิดอุบัติเหตุที่ช่องท้อง  จนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องอ่อนแอลง หรือเกิดขึ้นจากการผ่าตัด นอกจากนี้แรงดันภายในช่องท้องก็เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนได้อีกด้วย เพราะเมื่อแรงดันในช่องท้องมากขึ้น ลำไส้ที่อยู่ภายในก็จะถูกดันออกมาตุง อยู่ที่บริเวณผนังช่องท้อง โดยสาเหตุที่ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นมีดังนี้

  1. การยกของหนัก ๆ ทำให้ต้องออกแรงมาก ซึ่งจะเกิดอาการเกร็ง ปอดขยายและดันกระบังลมลงมา ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น
  2. การตั้งครรภ์ เมื่อมีทารกเกิดขึ้นภายในครรภ์ จะส่งผลให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น
  3. ปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ทั้งอุจจาระ และปัสสาวะ เช่น อาการท้องผูก,ภาวะต่อมลูกหมากโต
  4. มีของเหลวอยู่ภายในช่องท้อง ของเหลวที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติในช่องท้อง จะก่อให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้น เช่น ภาวะท้องมาน
  5. การไอหรือจามแรง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจ หรือโรคเรื้อรัง อาทิ วัณโรค โรคถุงลมโป่งพอง
  6. ผู้ป่วยเคยเป็นไส้เลื่อน หรือมีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อน
  7. มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
  8. ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่

การป้องกัน….

ไส้เลื่อนสามารถป้องกันได้ โดยการรักษาระดับแรงดันภายในช่องท้องให้เป็นปกติ และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้องด้วยวิธีนี้  ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่อ้วนจนเกินไป รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำเพื่อลดอาการท้องผูก หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ควรยกสิ่งของให้ถูกวิธี ด้วยการย่อตัวลงและหยิบของโดยพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ  ไม่สูบบุหรี่ ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการไอติดต่อกันผิดปกติ

การรักษา…

การวินิจฉัยโดยแพทย์ เมื่อมาพบแพทย์ จะมีการตรวจร่างกายภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งหากสงสัยว่ามีก้อนนูนอยู่บริเวณช่องท้องหรือบริเวณขาหนีบ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนและลองไอออกมา เพื่อให้เห็นอาการของไส้เลื่อนได้ชัดเจนมากขึ้น

หากอาการไส้เลื่อนไม่สามารถเห็นได้ชัดจากภายนอก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หากสงสัยว่าเป็นไส้เลื่อนที่ช่องอก แพทย์อาจทำการส่องกล้องผ่านทางลำคอลงไปยังหลอดอาหารและช่องท้องเพื่อตรวจวินิจฉัย  ในกรณีที่มีอาการข้างเคียง มีไข้ หรือมีอาการปวดมากผิดปกติ อาจมีการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม

ไส้เลื่อน เป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะไส้เลื่อนชนิดติดค้างควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ส่วนไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ หากในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาเพื่อประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม ยาขยายหลอดลมเพื่อลดอาการไอ  ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด หรือ ยาขับปัสสาวะเพื่อลดระดับของเหลวในช่องท้อง

อย่างไรก็ตามการใช้ยาสามารถประคับประคองอาการไส้เลื่อนได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงระยะหนึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัดแพทย์จะพิจารณาจากอายุของผู้ป่วย ขนาดของไส้เลื่อนด้วยการอัลตราซาวด์ สีของผิวหนังบริเวณที่มีไส้เลื่อน หากเริ่มมีอาการปวด แพทย์จะแนะนำให้รีบเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะนั่นหมายถึง บริเวณที่เป็นไส้เลื่อนเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว

การผ่าตัดรักษา..

การผ่าตัดแบบเปิด… เป็นวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน โดยแพทย์จะทำการผ่าที่บริเวณหน้าท้องแล้วดันส่วนที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปสู่ตำแหน่งเดิม จากนั้นแพทย์จะใส่วัสดุคล้ายตาข่ายเพื่อเสริมความแข็งแรง วิธีการผ่าตัดนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ และจะใช้วิธีนี้เช่นกัน หากต้องทำการผ่าตัดไส้เลื่อนเป็นการด่วน

การผ่าตัดผ่านกล้อง … เป็นการผ่าตัดโดยผ่านกล้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ สำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก สามารถฟื้นตัวได้ไว ถ้าเป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบทั้งสองข้างก็สามารถผ่าพร้อมกันทีเดียวได้เลย ผ่าแบบส่องกล้องมีเพียงแผลเล็กๆ 3 จุด  ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด และสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติภายในไม่กี่สัปดาห์

แต่ถ้าไม่ผ่า ปล่อยอาการไส้เลื่อนทิ้งไว้จนเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้ อาทิ อาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน เนื่องมาจากแรงดันที่ไปกดทับบริเวณที่อยู่โดยรอบลำไส้ที่เลื่อนออกมา หรือทำให้เกิดอาการท้องผูก รู้สึกคลื่นไส้ เนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ถูกจำกัด และมีการอุดกั้นของลำไส้ ซึ่งนำไปสู่ภาวะลำไส้ขาดเลือด เกิดการติดเชื้อ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป
โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500, 4501

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (5 )
  • Your Rating