บทความสุขภาพ

5 ข้อควรรู้ ‘ โรคเกาต์เทียม ‘ปวดบวมข้อ แต่ไม่สัมพันธ์กับยูริก

Share:

เรามักตั้งข้อสังเกตกันว่า หากมีอาการปวดบวมแดง เป็นๆ หายๆ ที่บริเวณข้อต่างๆ อาจเกิดจากโรคเกาต์ แต่จริงๆ แล้วมีโรคข้ออักเสบอีกชนิดหนึ่งที่อาการแสดงคล้ายกันมาก แต่ไม่ได้สัมพันธ์กับภาวะกรดยูริกสูง คือ โรคเกาต์เทียม ซึ่งพบได้บ่อยไม่แพ้กันโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องอาจนำไปสู่การรักษาที่ผิดวิธี และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

ทำความรู้จัก 5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคเกาต์เทียม เพื่อการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

1. โรคเกาต์เทียม ไม่ได้เกิดจากภาวะยูริกในเลือดสูงแบบโรคเกาต์

โรคเกาต์เทียม เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต มีการตกตะกอน

และสะสมตามข้อต่อต่าง ๆ รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณรอบข้อ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันเป็นครั้งคราว แตกต่างจากโรคเกาต์ที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงสะสมเป็นระยะเวลานาน และตกตะกอนเป็นผลึกกรดยูเรตสะสมตามข้อจนทำให้เกิดข้ออักเสบตามมา

2. อาการแสดงคล้ายโรคเกาต์จึงถูกเรียกว่า “เกาต์เทียม”

อาการแสดงบางอย่างมีความคล้ายคลึงกับ โรคเกาต์ จึงถูกเรียกว่า โรคเกาต์เทียม แต่ในความจริงมีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ จึงทำให้การวินิจฉัยค่อนข้างยากและสับสน อาการแสดงอาจมีรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • ข้ออักเสบเฉียบพลัน คล้ายโรคเกาต์ มีปวดบวมแดงที่บริเวณข้อและเนื้อเยี่อรอบๆ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า
  • ข้ออักเสบแบบเรื้อรัง คล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยเฉพาะที่บริเวณ ข้อมือ และข้อนิ้วมือ
  • ปวดข้อเรื้อรังแบบโรคข้อเสื่อม ข้ออาจจะถูกทำลาย และเกิดข้อผิดรูปในลักษณะที่คล้ายกับโรคข้อเสื่อมได้
  • ในบางครั้ง โรคเกาต์เทียม ไม่มีอาการข้ออักเสบ หรือปวดข้อ แต่พบความผิดปกติได้จากภาพถ่ายเอ็กซเรย์

3. ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเกาต์เทียม โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ

โรคเกาต์เทียม มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และอาจพบในผู้ป่วยอายุน้อยกว่านี้ที่มีความผิดปกติทางฮอร์โมนและเมตาบอลิซั่มบางอย่าง

4. ส่งตรวจน้ำในข้อ วินิจฉัยโรคเกาต์เทียม

การวินิจฉัยโรคเกาต์เทียมที่แม่นยำที่สุด คือการเจาะข้อเพื่อส่งตรวจน้ำไขข้อ ซึ่งจะพบผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตในน้ำไขข้อนั้น แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเจาะข้อได้ หรือมีข้ออักเสบในตำแหน่งที่เจาะตรวจไม่ได้ หรือมาพบเเพทย์ในขณะที่อาการข้ออักเสบหายไปแล้ว อาจวินิจฉัยจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และภาพถ่ายเอ็กซเรย์ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย อาจจำเป็นต้องตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค ป้องกันการสับสนจากโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ๆ

5. โรคเกาต์เทียม ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการได้

การรักษาโรคเกาต์เทียม สามารถควบคุมได้โดยการใช้ยา เพื่อลดอาการข้ออักเสบเฉียบพลันในระยะสั้น ซึ่งอาจมีทั้งยาฉีดและรับประทาน แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแบบเรื้อรัง หรือมีอาการข้ออักเสบกำเริบบ่อย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพื่อควบคุมและป้องกันการกำเริบในระยะยาว ทั้งนี้ แนวทางการรักษาจำเป็นต้องปรับเพื่อความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี โทร. 02-734-0000 ต่อ 2200

  • Readers Rating
  • Rated 3.4 stars
    3.4 / 5 (12 )
  • Your Rating