บทความสุขภาพ

อยู่กับหน้าจอประจำ อาจนำไปสู่ “โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม”

Share:

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า สังคมก้มหน้า และไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเป็นคำพูดเกินจริง เพราะการพกพาเครื่องมือสื่อสารประเภท สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ถือเป็นเรื่องปกติของสังคมปัจจุบัน และผู้คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาหลายชั่วโมงกับหน้าจอ โดยไม่รู้เลยว่าพฤติกรรมคุ้นชินเหล่านี้ อาจส่งผลร้ายตามมาโดยไม่รู้ตัว

โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม นับเป็นปัญหาโรคกระดูกสันหลังที่ ที่พบได้มากในปัจจุบัน มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ต้องก้มหรือเงยคอบ่อย ๆ ในแต่ละวัน ส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องรับภาระเยอะขึ้น ปัจจัยต่อมาคือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นกระดูกสันหลังส่วนคอย่อมเสื่อมตามวัยจากการใช้งาน

สังเกตอาการโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

  • ปวดคอเรื้อรัง ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ มักปวดร้าวลงไปที่ไหล่หรือแขน
  • อาการชา หรือมีความรู้สึกคล้ายเข็มทิ่มตำ บริเวณแขนหรือมือ
  • อาการอ่อนแรง ปัญหาด้านการทรงตัว และอาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สำหรับรายที่มีอาการรุนแรง

ผ่าตัดส่องกล้องรักษากระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อและปรับกิจวัตรประจำวัน แต่หากอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก แพทย์อาจรักษาโดยใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอ เพื่อป้องกันความเสียหายของเส้นประสาทอย่างถาวร

ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งแพทย์สามารถผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอโดยเปิดแผลขนาดเพียง 2-2.5 เซนติเมตร ทำให้แผลผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอมีขนาดเล็กลงมาก ลดอาการบาดเจ็บ ลดระยะเวลาในการพักฟื้น สามารถคืนคุณภาพชีวิตเดิมให้ผู้ป่วยได้ในเร็ววัน

การดูแลและป้องกันกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

ระมัดระวังให้คออยู่ในท่วงท่าที่เหมาะสมขณะอยู่ในอิริยาบทต่าง ๆ ทั้งการยืน การนั่ง หรือการเดิน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่คอ หลีกเลี่ยงการก้ม ๆ เงย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือบ่อยจนเกินไป และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหรือพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรัง จึงควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (7 )
  • Your Rating