บทความสุขภาพ

เบ่งอุจจาระเป็น แก้ ‘ท้องผูกเรื้อรัง ’ ได้

Share:

รู้หรือไม่? ความเชื่อที่ว่า “คนเราต้องขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน” เป็นความเข้าใจผิดที่ถูกบอกต่อกันมาปากต่อปาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความปกติของการขับถ่ายนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น อายุ กิจกรรมที่ทำ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นว่า คนบางคนอาจสามารถขับถ่ายได้ทุกวัน บางคนอาจขับถ่ายทุก 2-3 วัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาการถ่ายยากกว่าปกติจนอาจเป็นโรคท้องผูกเรื้อรังได้

แล้วอาการแบบไหนถึงเป็นสัญญาณของโรคท้องผูก

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายคนคงอาจสงสัยว่า แล้ว “ความไม่ปกติ” ของการขับถ่ายนั้นสังเกตได้อย่างไร? ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตราบใดที่จำนวนครั้ง และความคล่องตัวในการขับถ่ายยังเป็นไปตามปกติก็จะ ถือว่าระบบขับถ่ายของคุณอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี แต่หากจำนวนครั้งที่ขับถ่ายลดลง และมีปัญหาการเบ่งถ่ายร่วมด้วย เช่น ขับถ่ายยาก ใช้เวลาเบ่งถ่ายนาน หรืออุจจาระแข็ง หากพบเจออาการเหล่านี้ก็นับได้ว่าคุณอาจมีอาการเข้าข่ายอาการท้องผูกเข้าให้แล้ว ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันนาน 3 เดือนขึ้นไปก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นปัญหาภาวะท้องผูกเรื้อรัง ถ้าหากคุณละเลยไม่รีบแก้ไข อาการเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น ริดสีดวงทวารหนัก ลำไส้ใหญ่อักเสบ และอาจรุนแรงถึงขั้นมะเร็งทวารหนักเลยก็เป็นได้

เช็กลิสต์อาการเข้าข่าย ‘ท้องผูก’

  • ขับถ่ายน้อยกว่าปกติ (อย่างน้อยต้องขับถ่าย 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือขับถ่ายทุก ๆ 3 วัน)
  • อุจจาระแข็ง
  • เบ่งถ่ายยาก ใช้เวลาเบ่งถ่ายนาน
  • มีความรู้สึกว่าเบ่งถ่ายไม่หมดสักที

การวินิจฉัยและการรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรัง

ภาวะท้องผูกเรื้อรังเกิดจากหลายสาเหต เช่น ลำไส้แปรปรวน ลำไส้ทำงานผิดปกติ หูรูดทวารหนักทำงานผิดปกติหรือมีการเกร็งตัวผิดปกติ รวมถึงอาจมีภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้เล็ก เป็นต้น หากคนไข้ได้รับการตรวจแล้วยืนยันว่า ภาวะท้องผูกเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากไทยรอยด์ทำงานต่ำ ผลข้างเคียงของยารักษาโรคบางชนิด ภาวะลำไส้อุดตัน หรือโรคมะเร็งลำไส้ ประกอบกับได้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารแล้ว แต่อาการท้องผูกยังคงไม่ดีขึ้น โดยปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ตรวจการทำงานของหูรูดทวารหนัก (Anorectal Manometry) ตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ (Colonic Transit Time) และตรวจปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ (Hydrogen Breath Test) เพื่อรักษาภาวะท้องผูกให้ตรงกับสาเหตุ

หากพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะหูรูดทำงานไม่สัมพันธ์กับการเบ่ง หรือเบ่งถ่ายไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการฝึกเบ่งถ่ายอุจจาระ ด้วยวิธีที่เรียกว่า Biofeedback Therapy ซึ่งแพทย์และคนไข้จะได้ร่วมกันดูภาพการทำงานของหูรูดทวารหนักเพื่อสังเกตการหดและคลายกล้ามเนื้อหูรูดในการเบ่งถ่ายในขณะนั้น และฝึกการเบ่งถ่ายให้ถูกต้องเพื่อรักษาภาวะท้องผูกให้ดียิ่งขึ้น และเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและตรงจุด ก็สามารถหายจากภาวะท้องผูกเรื้องรังได้สำเร็จ

รู้ไว้ใช่ว่า! ใช้ยาระบายบ่อย ๆ อาจเกิดภาวะลำไส้ขี้เกียจ

ผู้ป่วยท้องผูกหรือมีอาการขับถ่ายลำบากที่ใช้กลุ่มยาระบายกระตุ้นลำไส้เป็นประจำนั้น มักทำให้เกิดปัญหาภาวะลำไส้ติดยา หรือลำไส้ขี้เกียจ (Lazy Bowel) ตามมา ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้ไม่สามารถขับถ่ายได้เอง แต่ภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยการพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และปรับยาระบายให้เหมาะสม จนกระทั่งสามารถหยุดยากระตุ้นลำไส้ได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 2960

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (6 )
  • Your Rating