บทความสุขภาพ

รู้ทันโรคและอาการริดสีดวงทวารกับโรงพยาบาลเวชธานี

Share:

14 สาเหตุสำคัญของการเกิด “ ริดสีดวงทวารหนัก ”

  1. รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  2. ภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะทำให้เกิดการเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย
  3. ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง การถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ แรงเบ่งจะเป็นการเพิ่มความดัน
  4. อุปนิสัยในการเบ่งอุจจาระ เช่น ชอบเบ่งอุจจาระแรง ๆ
  5. การเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน เช่น นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือขณะขับถ่าย รวมถึงการ การยืน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ
  6. การชอบใช้ยาสวนอุจจาระ หรือยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อ
  7. ภาวะตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ทำให้คั่งอยู่ในหลอดเลือด
  8. น้ำหนักตัวมาก หรือโรคอ้วน มีผลให้แรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานเพิ่มสูงขึ้น เลือดจึงคั่งในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้
  9. ผู้สูงอายุมักจะมีการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งความเสื่อมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดโป่งพองได้ง่ายกว่าปกติ
  10. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ทำให้เกิดการกดเบียดทับหรือเกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเรื้อรัง ทำให้เลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
  11. อาการไอเรื้อรัง มีผลเพิ่มแรงดันในช่องท้อง
  12. โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด (วาวล์) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือด ซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือด มีผลทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งอ.ยู่ภายในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
  13. ริดสีดวงทวารหนัก อาจพบร่วมกับโรคในช่องท้องอื่น ๆ เช่น ก้อนเนื้องอกในท้อง เนื้องอกมดลูก เนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมากโต ตับแข็ง หากพบว่ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล
  14. ไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม โดยพบว่าผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวารหนัก จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป

อ่านรายละเอียด : https://bit.ly/2MJUcff


“อุจจาระมีเลือดปน” บ่งชี้โรคอะไรได้บ้าง?

การขับถ่าย เป็นอีกหนึ่งกิจวัตรสำคัญ ในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย และไม่ใช่เรื่องน่าอาย หากเราจะสังเกตอุจจาระดูบ้าง เพราะลักษณะและสีของอุจจาระ สามารถบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้ หากมีความผิดปกติ เช่น อุจจาระแข็ง สีคล้ำ หรือมีเลือดปน อาจเป็นสัญญาณของโรคบางโรค ที่กำลังคุกคามสุขภาพของเราอยู่

  • ริดสีดวงทวารหนัก

ผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ มีความเสี่ยงเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักมากกว่าผู้ที่ขับถ่ายได้ตามปกติ หากมีอุจจาระเป็นก้อนแข็งบ่อยครั้ง อุจจาระจะครูดกับผิวหรือเยื่อเมือกของทวารหนัก จนเกิดเป็นแผล มีเลือดสดไหลปนออกมาเป็นหยด ๆ หรือเป็นเส้น ๆ พร้อมอุจจาระ นอกจากจะมีอาการปวดแสบบริเวณรูทวารหนักแล้ว อาการแสดงออกของริดสีดวงยังอาจมีก้อนริดสีดวงปลิ้นออกมา จนมีอาการอักเสบ ปวดแสบหนักมากขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

  • เลือดออกในลำไส้ใหญ่

มีเลือดสด หรือลิ่มเลือดไหลออกมาพร้อมกับอุจจาระ แต่ไม่มีอาการปวดแสบทวารหนัก เพราะไม่มีอาการท้องผูก อาจเป็นเพราะมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ หากมีเลือดไหลออกมาเล็กน้อย และหยุดไหลได้เอง สามารถรอดูอาการที่บ้านได้ แต่หากมีเลือดไหลออกมาก ควรรีบมาพบแพทย์จะดีที่สุด

  • เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก

อาการอาจเริ่มจากอาเจียนออกมาเป็นเลือดก่อน (หรือไม่มีอาการอาเจียนเลยก็ได้) จากนั้นอาจตามด้วยอุจจาระเป็นเลือด โดยเลือดจะเป็นสีเข้มจนเกือบดำ หากถ่ายเป็นเลือดจำนวนมาก ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน

  • โรคลำไส้ขาดเลือด

เกิดจากเลือดไม่สามารถเข้าไปไหลเวียนในลำไส้ได้ ทำให้เซลล์ลำไส้เริ่มไม่ทำงาน จนกระทั่งเซลล์ตาย และเริ่มเน่าจนมีแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเกร็งท้อง อาจปวดมากจนหมดสติ และเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ หากระหว่างปวดท้องมีอาการถ่ายเป็นเลือด แสดงว่าอาการเริ่มหนัก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด เพราะหากลำไส้บางส่วนเริ่มเน่า จะต้องผ่าตัดนำลำไส้ส่วนที่เสียออกไป แล้วต่อลำไส้ที่ยังทำงานได้ตามปกติเข้าด้วยกัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://bit.ly/2NBESgb


รักษาอาการริดสีดวง ขั้นต้นด้วยตัวเอง

การประคับประคองอาการริดสีดวงทวารด้วยตนเอง โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ที่เป็นต้นเหตุของโรคริดสีดวงทวาร ลองมาดูกันว่าวิธีการรักษาอาการริดสีดวงขั้นต้นด้วยตัวเอง มีอะไรบ้าง

  1. ระวังอย่าให้ท้องผูกหรือท้องเดินบ่อย ๆ โดยควรรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูงให้มาก เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอสุก และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย หากยังมีอาการท้องผูกอีก ให้รับประทานยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซียม หรือสารเพิ่มกากใย เป็นต้น
  2. ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระ
  3. หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการยืน การเดิน และการนั่งแช่เป็นเวลานาน ๆ
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้โรคริดสีดวงทวารเป็นมากขึ้นได้
  5. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  6. เมื่ออุจจาระหรือปัสสาวะเสร็จ ควรล้างก้นด้วยน้ำอุ่น ๆ หรือน้ำสะอาด พยายามรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ แต่หากอยากใช้สบู่ ก็ควรเป็นสบู่เด็กอ่อน เพื่อลดการระคายเคืองของหัวริดสีดวงที่กำลังบวมหรือมีการอักเสบอยู่ (ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระแบบแข็ง แต่ควรใช้วิธีชุบน้ำ หรือใช้กระดาษชำระชนิดเปียกแทน)
  7. หากหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก ให้ใส่ถุงมือแล้วใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งจะช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ผล แนะนำให้ไปพบแพทย์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://bit.ly/2SIhwJ1


บอกลาความทรมานจาก ‘ริดสีดวง’ ด้วยเทคโนโลยี HAL-RAR

เทคโนโลยี HAL-RAR ปัญหาท้องผูกจากรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือใช้เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระนาน อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด ‘ริดสีดวงทวารหนัก’ ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงส่งผลต่อชีวิต แต่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความทรมานไม่ว่าจะนั่งหรือยืน มีอาการคันและเจ็บปวดบริเวณทวารหนัก อีกทั้งยังมีเลือดออกหลังการอุจจาระ

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการรักษาแนวทางใหม่โดยไม่อาศัยการผ่าตัด ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ ลดความทรมาน ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับมาขับถ่ายอย่างสะดวกได้ตามปกติ

‘ริดสีดวงทวารหนัก’ เป็นภาวะที่หลอดเลือดบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพอง บางครั้งอาจมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดขณะเบ่งถ่ายอุจจาระร่วมด้วย จึงทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว อาการของโรคมักปรากฏเมื่อท้องผูกบ่อยครั้ง โดยริดสีดวงทวารหนัก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ริดสีดวงนอก อยู่ด้านนอก ปกคลุมด้วยผิวหนัง มีก้อนนูนและคลำพบได้บริเวณทวารหนัก มักมีอาการปวด บวม ระคายเคือง
  • ริดสีดวงใน อยู่ลึกเข้าไปด้านใน ปกคลุมด้วยเยื่อบุลำไส้ มีก้อนนูนยื่นออกมาจากด้านใน และอาจมีเลือดออกที่ปลายลำไส้ระหว่างหรือหลังการขับถ่าย มักไม่มีอาการเจ็บ แต่หากเกิดลิ่มเลือดอุดตันจึงจะเจ็บปวด

สำหรับโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยา หรือใช้ยาเหน็บ ร่วมกับการดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เน้นรับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และฝึกการขับถ่ายเป็นเวลา ส่วนระยะถัดมา อาจรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การรัดยาง การเย็บหัวริดสีดวง เป็นต้น สำหรับระยะที่เป็นหนักมากแล้ว ส่วนใหญ่แล้วแนะนำรักษาด้วยการผ่าตัด แต่การผ่าตัด ทำให้มีแผลบริเวณปากทวารหนัก และต้องใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน

แต่ปัจจุบันมีเทคนิคในการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักแนวทางใหม่ เรียกว่า (Haemorrhoidal Artery Ligation and Recto Anal Repair) หรือ HAL-RAR ซึ่งประยุกต์การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Doppler Ultrasound) เข้ามาช่วยตรวจหาตำแหน่งของเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารหนัก แล้วทำการเย็บผูกรัดหลอดเลือดแดง เพื่อลดความดันเลือดที่ไปขยายขนาดของหัวริดสีดวงทวารให้ลดลง ทำให้หัวริดสีดวงหดเล็กโดยไม่ตัดหัวริดสีดวงหรือเยื่อบุทวารหนักใด ๆ ทั้งสิ้น และสามารถรักษาด้วยการเย็บผูกรั้งดันเนื้อริดสีดวงกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้ โดยไม่มีการตัดเนื้อเยื่อออก ซึ่งหัวริดสีดวงจะค่อย ๆ ลดขนาดลงภายใน 3-4 สัปดาห์ ข้อดีของการรักษาริดสีดวงทวารหนัก ด้วยเทคโนโลยี HAL-RAR นี้ ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ ลดความทรมาน ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับมาขับถ่ายอย่างสะดวกได้ตามปกติ

ปฏิบัติตนอย่างไร ห่างไกลริดสีดวงทวารหนัก

แม้ว่าความก้าวล้ำทางการแพทย์ จะมีการรักษาที่ช่วยลดอัตราการเจ็บปวดให้น้อยลงแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงอาการริดสีดวง โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตระบบขับถ่ายของตนเอง และฝึกการขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร ตลอดจนเลี่ยงการนั่งนาน ๆ เช่น ไม่ควรนั่งเล่นสมาร์ทโฟน หรืออ่านหนังสือระหว่างเบ่งถ่ายอุจจาระ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก หรือป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://bit.ly/30GiqdO


บอกลาความทรมานจาก “ริดสีดวงทวารหนัก” กับเทคนิค “HAL-RAR” เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ใช้ชีวิตประจำวันได้ดังเดิม

โรคริดสีดวงทวารหนัก

พฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ใช้เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระนาน อาการท้องผูก ยกของหนัก รวมถึงการตั้งครรภ์ ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิด “โรคริดสีดวงทวารหนัก” ซึ่งแม้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความทรมานไม่ว่าจะนั่งหรือเดิน

คุณโย ธิดารัตน์ ทวาเรศเรืองคราม หนึ่งในผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนัก ที่ทนอยู่กับความทรมานจากอาการของโรค เป็นเวลานานถึง 7 ปี เล่าว่า “ดิฉันเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก จากการตั้งครรภ์ลูกคนแรกเมื่อปีพ.ศ. 2553 โดยรู้สึกว่ามีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากรูทวารหนัก มีเลือดออกขณะเบ่งถ่ายในบางครั้ง และรู้สึกปวดรอบรูทวารหนัก ซึ่งอาการนี้เป็น ๆ หาย ๆ มาตลอดระยะเวลา 7 ปี”

โรคริดสีดวงทวารหนัก

ทนทรมานมานานแต่ไม่กล้ารักษา

“ดิฉันพยายามดูแลตนเอง ด้วยการรับประทานยาสมุนไพร ปรับพฤติกรรมการขับถ่าย แต่ยังไม่หายขาด จึงหาข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม แต่ที่ผ่านมาพบเพียงการผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวารหนักด้วยวิธีการเดิม ๆ เลยยังไม่ตัดสินใจผ่าตัด เพราะกลัวความเจ็บ และเกรงว่าจะต้องพักฟื้นนาน เนื่องจากเป็นพนักงานประจำ ไม่สามารถหยุดพักงานได้นาน”

ค้นพบ HAL-RAR เทคนิคใหม่ ในการรักษาริดสีดวงทวารหนัก

“จากการสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ทำให้ดิฉันพบวิธีการรักษาริดสีดวงทวารหนักเทคนิคใหม่ เรียกว่า HAL-RAR ซึ่งมีอยู่ที่โรงพยาบาลเวชธานี ดิฉันจึงศึกษาข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับเทคนิคนี้ จนกระทั่งมั่นใจว่าเทคนิคดังกล่าว ‘เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว’ จึงตัดสินใจโทรมานัดหมายกับโรงพยาบาลเวชธานี เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาริดสีดวงทวารหนัก”

ประทับใจการรักษา ด้วยเทคนิค HAL-RAR

“หลังรักษาด้วยเทคนิค HAL-RAR ดิฉันรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งดีกว่าการทนเจ็บปวดจากโรคริดสีดวงทวารหนักค่อนข้างมาก ส่วนตอนนี้ไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ เลย ดิฉันรู้สึกตัดสินใจถูกที่เลือกรักษาด้วยวิธีการนี้ เพราะฟื้นตัวเร็วมาก หลังรักษา 5 วัน ก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ นอกจากการรักษาแล้ว ดิฉันยังประทับใจการบริการ รวมถึงเอกสารที่ได้รับหลังการรักษา ซึ่งเป็นเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยริดสีดวงโดยเฉพาะ ดิฉันพกติดตัวในชีวิตประจำวันด้วย เพราะช่วยในการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมได้ดี ดิฉันเชื่อมั่นว่าเมื่อเราได้รับการรักษาที่ดีแล้ว และดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างยั่งยืนและเร็วมากด้วยเช่นกัน”

ด้าน นพ.ปิยะ โตเต็มโชคชัยการ ศัลยแพทย์ทั่วไป แพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าว อธิบายเกี่ยวกับเทคนิคการรักษาด้วยวิธี HAL-RAR เพิ่มเติมว่า

“HAL-RAR มีชื่อเต็มว่า Hemorrhoidal Artery Ligation and Recto Anal Repair เป็นการรักษาริดสีดวงด้วยการนำคลื่นเสียงความถี่สูง (Doppler Ultrasound) เข้ามาช่วยตรวจหาตำแหน่งของเส้นเลือดแดง ที่มาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารหนัก แล้วทำการเย็บผูกรัดหลอดเลือดแดง เพื่อลดความดันเลือด ที่ไปขยายขนาดของหัวริดสีดวงทวารให้ลดลง ทำให้หัวริดสีดวงหดเล็กโดยไม่ตัดหัวริดสีดวง หรือเยื่อบุทวารหนักใด ๆ และสามารถรักษาด้วยการเย็บผูกรั้งดันเนื้อริดสีดวงกลับเข้าไปภายในทวารหนักได้ โดยไม่ต้องตัดเนื้อเยื่อออก ซึ่งหัวริดสีดวงจะค่อย ๆ ลดขนาดลงภายใน 3-4 สัปดาห์ ข้อดีของการรักษาริดสีดวงทวารหนัก ด้วยเทคโนโลยี HAL-RAR นี้ ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ ลดความทรมาน ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับมาขับถ่ายอย่างสะดวกได้ตามปกติ”

ริดสีดวงทวารหนักกับการตั้งครรภ์

“คุณโย เป็นริดสีดวงทวารหนักจากการตั้งครรภ์ ซึ่งริดสีดวงขณะตั้งครรภ์มักเกิดจากหัวเด็กกดทับหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดดำที่อยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน เมื่อคลอดแล้วสามารถฝ่อลงได้ ส่วนใหญ่จึงไม่ผ่าตัดระหว่างตั้งครรภ์ แต่เมื่อคลอดบุตรแล้วควรตรวจดูอาการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่”

HAL-RAR และการรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าว

“สำหรับคุณโย มาด้วยโรคริดสีดวงทวารหนักระยะที่ 2 และมีแผลฉีกขาดที่ทวารหนัก จึงรักษาด้วยวิธี HAL-RAR เย็บผูกรัดหลอดเลือดด้วยไหมละลาย เพื่อลดความดันเลือด ที่ไปขยายขนาดของริดสีดวงทวารหนัก ทำให้หัวริดสีดวงฝ่อลง โดยไม่ต้องตัดหัวริดสีดวง จึงเจ็บน้อย มีผลข้างเคียงน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว สำหรับแผลฉีกที่ทวารหนัก ได้ผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูดบางส่วนออก ผลการผ่าตัดทั้งหมดเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีก้อนเนื้อริดสีดวง และแผลทวารหนักหายดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

“ริดสีดวงทวารหนักถือเป็นโรคใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด จึงควรหมั่นสังเกตตนเองว่า มีเลือดออกขณะขับถ่ายหรือมีติ่งเนื้อหรือไม่ หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจดูก้อนเนื้อว่าเป็นหัวริดสีดวงหรือเป็นโรคร้ายอื่น ๆ เช่น มะเร็ง เป็นต้น หากพบว่าเป็นริดสีดวง แพทย์จะได้มอบการรักษาอย่างเหมาะสมตามระยะที่เป็น เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องทรมานกับอาการเจ็บปวดอีกต่อไป”

อ่านรายละเอียดเพิ่ม : https://bit.ly/2RI8bBh


ทำความรู้จักโรคริดสีดวงทวารหนัก

แบ่งปันประสบการณ์ผ่าตัดรักษาริดสีดวง คุณธิดารัตน์ ทวารเรศเรืองคราม

แบ่งปันประสบการณ์ผ่าตัดรักษาริดสีดวง คุณสุรเชษฐ์ สุระกุล

แบ่งปันประสบการณ์ผ่าตัดรักษาริดสีดวง คุณไปรมา นิลมณี

เตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดริดสีดวง

  • Readers Rating
  • Rated 3.8 stars
    3.8 / 5 (3 )
  • Your Rating