บทความสุขภาพ

“ปวดไหล่” อาจไม่ใช่อาการธรรมดา ระวังเอ็นกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ฉีกขาด แบบไม่สามารถซ่อมแซมได้

Share:

 อาการปวดไหล่ นับเป็นปัญหาสุขภาพที่หลายท่านเคยประสบ และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หากมีอาการเรื้อรังไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาจเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด โดยสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากภาวะเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฉีกขาด แบบไม่สามารถซ่อมแซมได้ ฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนความรุนแรงของอาการจะทวีจนยากเกินรักษา

ข้อไหล่…หนึ่งอวัยวะสำคัญในการเคลื่อนไหว

ข้อไหล่ของเราสามารถเคลื่อนไหว หรือบิดหมุนได้หลายทิศทาง โดยมีกล้ามเนื้อชุดหนึ่งหุ้มรอบอยู่ เรียกว่า Rotator Cuff Muscle ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 4 มัด ได้แก่

  • Supraspinatus
  • Infraspinatus
  • Subscapularis
  • Teres Minor

ซึ่งกล้ามเนื้อแต่ละมัดจะทำงานสอดประสานกันในการเคลื่อนไหว และขณะเดียวกันยังทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของข้อไหล่ ไม่ให้เกิดภาวะข้อไหล่เคลื่อนหลุดอีกด้วย

ปวดไหล่…อาจเป็นสัญญาณเตือนกล้ามเนื้อฉีกขาด

หากมีอาการผิดปกติของข้อไหล่ เช่น ปวดไหล่ อ่อนแรง ยกแขนไม่ขึ้น อาจเป็นสัญญาณของภาวะการฉีกขาดของกลุ่มกล้ามเนื้อดังกล่าว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น ข้อไหล่ติดแข็ง หรือข้อเสื่อมอันเนื่องมาจากเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดเรื้อรัง (Cuff Tear Arthropathy) อีกทั้งยังทำให้ขนาดของการฉีกขาดขยายขึ้นเรื่อย ๆ และคุณภาพความแข็งแรง ของเส้นเอ็นจะเสื่อมถอยลงจนกลายเป็นภาวะ Massive Irreparable Rotator Cuff Tear (MRCT) ซึ่งยากต่อการรักษา

แม้รักษายาก…แต่รักษาได้

แม้ว่าเส้นเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ที่ฉีกขาดรุนแรงจะไม่สามารถซ่อมแซมได้ แต่ปัจจุบันมีวิธีการรักษาด้วยเทคนิคใหม่ เรียกว่าการผ่าตัด “Superior Capsular Reconstruction : SCR” ซึ่งประสบผลสำเร็จในการรักษากว่า 90% และได้รับการยอมรับจากศัลยแพทย์ทั่วโลก โดยการผ่าตัดเทคนิคนี้ จะนำแผ่นเส้นเอ็นบริเวณด้านข้างของต้นขาผู้ป่วยมาใช้ทดแทน และเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ และใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีข้อดีคือ “แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว” ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดจะมีอาการปวดลดลง ขยับข้อไหล่ได้ดีขึ้น และมีกำลังกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดไหล่ ในเบื้องต้นสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น พักการใช้งานไหล่ ประคบ หรือรับประทานยาแก้ปวด แต่หากอาการยังไม่ทุเลา ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้าน เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนในการรักษาต่อไป