บทความสุขภาพ

“นิ้วล็อก” ภัยเงียบของยุคสังคมออนไลน์

Share:

การใช้งานนิ้วมือหนักเกินไป ใช้งานนิ้วมือด้วยท่วงท่าเดิมซ้ำ ๆ หรือใช้นิ้วเกี่ยวของหนัก ๆ มักเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนิ้วล็อก และด้วยยุคสังคมออนไลน์ ทำให้คนทั่วไปติดการเล่นสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบคนเป็นโรคนิ้วล็อกเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนี้

โรคนิ้วล็อก” เกิดจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ (A1-Pulley) อักเสบและหนาตัวขึ้น ซึ่งเมื่ออักเสบ จะทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นด้วยความยากลำบาก จึงมีอาการปวด และขยับนิ้วมือได้ยากขึ้น

อาการแบบนี้ บ่งชี้โรคนิ้วล็อก

ผู้ป่วยโรคนิ้วล็อก มักมีอาการเจ็บที่ฝ่ามือ บริเวณใต้ข้อต่อโคนนิ้วมือ หากเป็นมากขึ้นอาจมีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือได้ โดยอาการของโรคมักพบมากหลังจากตื่นนอนตอนเช้า หรือตอนที่ใช้งานมือหนัก ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ความรุนแรงของโรคนิ้วล็อกแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  • มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
  • มีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง
  • กำมือแล้วเกิดอาการล็อก ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้มือมาช่วยง้างออก
  • ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย

“นิ้วล็อก” รักษาอย่างไร?

แนวทางในการรักษาโรคนิ้วล็อก แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน โดยมีรายละเอียดของวิธีรักษา ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และนำมือแช่น้ำอุ่นตอนเช้าหลังตื่นนอน ประมาณ 5 นาที ร่วมกับรับประทานยาลดปวดและอักเสบตามอาการ
  2. ฉีดยาลดการอักเสบเฉพาะที่ ตรงตำแหน่งปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ (A1-Pulley) ซึ่งยาที่ใช้นั้นเป็นยาในกลุ่มสเตียรอดย์ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ความดูแลของแพทย์ เนื่องจากผลข้างเคียงร้ายแรงที่สุดที่พบได้คือ เส้นเอ็นเปื่อยและอาจจะขาดเองได้
  3. การผ่าตัดโดยแพทย์จะตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ (A1-Pulley) ร่วมกับเลาะเนื้อเยื่ออักเสบที่หุ้มเส้นเอ็นออก วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้ายที่ใช้ในการรักษา จะช่วยลดอาการปวดและทำให้เส้นเอ็นขยับได้คล่องขึ้น ไม่มีอาการสะดุดเวลาใช้งาน โดยการผ่าตัดจะฉีดยาชาเฉพาะที่คล้ายกับการถอนฟัน ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการหลังจากผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วนิ้วมือสามารถขยับได้เลยตั้งแต่หลังผ่าตัดเสร็จ

ทั้งนี้วิธีและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ควรปรับพฤติกรรมการใช้งานนิ้วมือให้เหมาะสม ทั้งหลีกเลี่ยงการใช้นิ้วเกี่ยวของหนัก ๆ หรือลดระยะเวลาการเล่นสมาร์ทโฟนลง ก่อนเกิดอาการนิ้วล็อกหรือก่อนที่อาการของโรคจะดำเนินไปมากขึ้นกว่าเดิม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2298 , 2299

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (6 )
  • Your Rating