บทความสุขภาพ

ผ่าตัดลิ้นหัวใจแบบส่องกล้อง ทางเลือกใหม่ในการรักษาหัวใจคุณ

Share:

ทางเลือกใหม่ในการรักษา ภายในหัวใจของคนเรานั้น มีลิ้นหัวใจ 4 ลิ้น ทำหน้าที่ควบคุมให้เลือดไหลเวียนไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่ไหลย้อน เพื่อให้หัวใจทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะเมื่อเกิดความผิดปกติกับลิ้นหัวใจ จะทำให้ลิ้นหัวใจเสียหายจนเกิดรอย “ตีบ” หรือ “รั่ว” ส่งผลให้ทำงานของหัวใจทั้งดวงค่อย ๆ แย่ลง จนอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด

การผ่าตัดลิ้นหัวใจในอดีตนั้น จำเป็นต้องผ่าตัดแผลกลางหน้าอก ถึงแม้จะได้ผลการรักษาที่ดี แต่กระนั้น ผู้ป่วยต้องมีบาดแผลยาว 20-25 เซนติเมตร กระดูกหน้าอกต้องถูกเลื่อยผ่ากลาง และยึดกลับคืนภายหลังจากผ่าตัดเสร็จ ทำให้มีการเสียเลือดจำนวนมาก ปวดแผลค่อนข้างมาก และใช้เวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัดนาน 8-12 สัปดาห์ ซ้ำยังทิ้งรอยแผลเป็นยาวตั้งแต่คอหอยถึงลิ้นปี่ และยังอาจเกิดภาวะแผลเป็นนูนได้ในผู้ป่วยบางราย

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการผ่าตัดพัฒนาขึ้นมาก มีการใช้กล้องวิดิทัศน์ช่วยในการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดลิ้นหัวใจ มีบาดแผลขนาดเล็กกว่าแต่ก่อน ผู้ป่วยจึงเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวได้ไวขึ้น

โดยวิธีการผ่าตัดลิ้นหัวใจแผลเล็กนั้น จะใช้เครื่องมือผ่าตัดที่ออกแบบยาวเป็นพิเศษแตกต่างจากเดิม โดยจะผ่าตัดผ่านช่องซี่โครงทางด้านขวา และใช้กล้องวิดิทัศน์ ใส่ผ่านรูเล็ก ๆ ไปช่วยเพิ่มกำลังขยายภาพ และทำให้มองเห็นภาพที่มีความชัดลึกด้วยระบบ 3 มิติ ใส่สายเครื่องปอดและหัวใจเทียมไปที่เส้นเลือดบริเวณขาหนีบ เพื่อช่วยพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ ให้ศัลยแพทย์สามารถหยุดการเต้นของหัวใจชั่วคราว และเข้าไปผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้โดยปลอดภัย

เมื่อหัวใจถูกทำให้หยุดเต้น ศัลยแพทย์จะประเมินพยาธิสภาพของลิ้นหัวใจที่เสียหาย และพิจารณาการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยเทคนิคที่เหมาะสมได้ เช่นเย็บเส้นเอ็นเทียมทดแทนส่วนที่ฉีกขาด การใส่วงแหวนรัดกระชับลิ้นหัวใจ หรือสามารถเปลี่ยนใส่ลิ้นหัวใจเทียมในกรณีที่ลิ้นหัวใจเดิมเสียเกินกว่าจะซ่อมได้

ปลอดภัยดังเดิม เพิ่มเติมคือความสำเร็จในการผ่าตัด

การผ่าตัดลิ้นหัวใจแบบส่องกล้องนั้น สามารถทำได้อย่างปลอดภัยเทียบเท่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ฟื้นตัวไวขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน และทำงานตามปกติได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการครองเตียงในหอผู้ป่วยวิกฤต ลดวันนอนโรงพยาบาล และที่สำคัญยังเพิ่มความสำเร็จของการผ่าตัดในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ มีหลายโรคร่วมและความเสี่ยงสูงได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 4.2 stars
    4.2 / 5 (6 )
  • Your Rating