บทความสุขภาพ

บอกลาความทรมานจาก ‘ริดสีดวง’ ด้วยเทคโนโลยี HAL-RAR

Share:

ปัญหาท้องผูกจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือใช้เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระนาน อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด ‘ริดสีดวงทวารหนัก’ แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงส่งผลต่อชีวิต แต่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดความทรมานไม่ว่าจะนั่งหรือยืน มีอาการคันและเจ็บปวดบริเวณทวารหนัก อีกทั้งยังมีเลือดออกหลังการอุจจาระ

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการรักษาริดสีดวงทวารแนวทางใหม่โดยผ่าตัดช่วยลดการบาดเจ็บ ลดความทรมาน ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว กลับมาขับถ่ายอย่างสะดวกได้ตามปกติ

‘ริดสีดวงทวารหนัก’ เป็นภาวะที่หลอดเลือดบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพอง บางครั้งอาจมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดขณะเบ่งถ่ายอุจจาระร่วมด้วย จึงทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว อาการของโรคมักปรากฏเมื่อท้องผูกบ่อยครั้ง โดยริดสีดวงทวารหนัก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ริดสีดวงภายนอก มีก้อนนูนและคลำพบได้บริเวณทวารหนัก มักมีอาการปวด บวม ระคายเคือง
  • ริดสีดวงภายใน อยู่ลึกเข้าไปด้านใน มีก้อนนูนยื่นออกมาจากด้านใน และอาจมีเลือดออกที่ปลายลำไส้ระหว่างหรือหลังการขับถ่าย มักไม่มีอาการเจ็บ แต่หากเกิดลิ่มเลือดอุดตันจึงทำให้มรอาการเจ็บปวด

สำหรับโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยา หรือใช้ยาเหน็บ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เน้นรับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และฝึกการขับถ่ายเป็นเวลา เมื่ออาการรุนแรงขึ้นอาจรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การรัดยาง การเย็บหัวริดสีดวง เป็นต้น สำหรับระยะรุนแรง ส่วนใหญ่แล้วแนะนำรักษาด้วยการผ่าตัด

ปัจจุบันมีเทคนิคในการรักษาโรคริดสีดวงทวารที่เรียกว่า (Haemorrhoidal Artery Ligation and Recto Anal Repair) หรือ HAL-RAR ซึ่งเป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Doppler Ultrasound) เข้ามาช่วยตรวจหาตำแหน่งของเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารหนัก แล้วเย็บผูกรัดหลอดเลือดแดง เพื่อลดความดันเลือดที่ไปขยายขนาดของหัวริดสีดวงทวารให้ลดลง โดยไม่ตัดหัวริดสีดวงหรือเยื่อบุทวารหนัก

ปฏิบัติตัวอย่างไร ห่างไกลริดสีดวงทวารหนัก

แม้ว่าความก้าวล้ำทางการแพทย์ จะมีการรักษาที่ช่วยลดอัตราการเจ็บปวดให้น้อยลงแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตระบบขับถ่ายของตัวเอง และฝึกการขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร ตลอดจนเลี่ยงการนั่งนาน ๆ เช่น ไม่ควรนั่งเล่นสมาร์ทโฟน หรืออ่านหนังสือระหว่างเบ่งถ่ายอุจจาระ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนัก หรือป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 4500 , 4501

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (5 )
  • Your Rating