บทความสุขภาพ

หมั่นดูแลรักษา “จอตา”  ก่อนสูญเสียการมองเห็น

Share:

จอตา หรือ จอประสาทตา เป็นเนื้อเยื่อบางใสที่บุอยู่ในลูกตาทางด้านหลัง ทำหน้าที่รับแสงและเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งผ่านไปยังเส้นประสาทตา และวิ่งออกจากลูกตาทางด้านหลังไปสู่สมอง แปลผลออกมาเป็นภาพ กล่าวได้ง่าย ๆ ว่า จอตา เป็นส่วนที่ทำหน้าที่หลักของลูกตาในการมองเห็นนั่นเอง ดังนั้น การตรวจจอตา และการดูแลรักษาจอตา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดความผิดปกติแล้ว อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

ความผิดปกติของจอตามีอะไรบ้าง?

เนื่องด้วยจอตามีลักษณะเป็นแผ่นบาง จึงมีโอกาสฉีกขาดเป็นรู หรือหลุดลอก รวมถึงมีโอกาสอักเสบติดเชื้อ และเกิดเนื้องอกได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเนื้อร้ายที่เรารู้จักกันดีว่าคือ มะเร็ง นอกจากนี้ บริเวณตรงกลางของจอตา จะมีส่วนที่เรียกว่าจุดรับภาพชัด เป็นบริเวณที่มักจะเกิดความผิดปกติ เช่น จุดรับภาพเสื่อม มีพังผืดที่จุดรับภาพ หรือจุดรับภาพเป็นรู เป็นต้น รวมถึงเส้นเลือดที่มาเลี้ยงจอตา ก็สามารถเกิดความผิดปกติได้เช่นเดียวกัน เช่น เส้นเลือดอุดตัน หรือแตกมีเลือดออก เป็นต้น โดยความผิดปกติเหล่านี้สามารถทำให้เกิดอาการตามัว หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นตามืดบอด มองไม่เห็นแม้แต่แสงเลยก็เป็นได้

ใครมีโอกาสเกิดความผิดปกติที่จอตา?

โรคที่เกี่ยวข้องกับจอตา สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ โดยในเด็กแรกเกิด โรคที่สำคัญได้แก่ โรคจอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด ส่วนในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคจุดรับภาพเสื่อม

รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดันสูง อาจมีเลือดออกที่จอตา หรือจุดรับภาพบวมได้ และกรณีผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมากกว่า 600 กลุ่มนี้ลูกตาจะยืดยาวออกทำให้จอตาบางมาก จึงมีโอกาสเกิดจอตาฉีกขาด หรือหลุดลอกได้มากกว่าคนสายตาปกติ

นอกจากนี้ โรคจอตาบางประเภทสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ อาทิ ตาบอดกลางคืน ตาบอดสี เป็นต้น ขณะที่ผู้ติดเชื้อ HIV หรือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโอกาสเป็นโรคจอตาอักเสบติดเชื้อได้เช่นกัน

สำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุบริเวณตา เช่น ถูกชกที่ตา ลูกบอลอัดเข้าเบ้าตา มีสิ่งแปลกปลอมกระเด็นเข้าตา ฯลฯ มีโอกาสเกิดเลือดออกที่จอตา จอตาฉีกขาด หรือช่วงแรกไม่มีอาการผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ตรวจรักษา อาจเกิดจอตาหลุดลอกตามมาได้ในอนาคต

ในผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยา Chloroquine หรือ Hydroxychloroquine ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE : Systemic Lupus Erythematosus) อาจเกิดปัญหาจุดรับภาพเสื่อม รวมถึงการใช้ยาสเตียรอยด์ก็อาจทำให้เกิดน้ำรั่วที่จอตาได้

อย่างไรก็ดี โรคจอตาบางประเภทอาจเกิดขึ้นได้เอง เช่น พังผืดที่จอตา จุดรับภาพเป็นรู  เนื้องอกที่จอตา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าโรคของจอตามีมากมาย จึงควรหมั่นตรวจเช็คจอตาเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

eye 2

ใครบ้างควรตรวจเช็คจอตา?

  • กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีอาการผิดปกติทางตา ได้แก่ ตามัว โดยเฉพาะบริเวณกลางภาพ หรือมัวเป็นซีกคล้ายม่านมาบัง เห็นจุดดำลอยไปมา เห็นแสงคล้ายฟ้าแลบในตา เห็นภาพบิดเบี้ยว
  • กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป โดยกลุ่มนี้อาจไม่มีอาการผิดปกติทางตาเลย แต่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจตา ได้แก่
    1. มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง
    2. อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
    3. สายตาสั้นมาก
    4. ทารกคลอดก่อนกำหนด
    5. มีประวัติโรคจอตา ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
    6. ประสบอุบัติเหตุที่ลูกตา
    7. รับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ หรือ Chloroquine

ควรตรวจจอตาบ่อยแค่ไหน?

ในกลุ่มที่ไม่มีความผิดปกติ และไม่มีความเสี่ยงอื่น ๆ แนะนำขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่หากมีโรคหรือมีความผิดปกติที่จอตา ความถี่ในการตรวจจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง และความเร่งด่วนในการรักษา ซึ่งจักษุแพทย์ผู้ตรวจรักษา จะนัดตามมาตรฐาน และตามความเหมาะสมต่อไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์ตา โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 3260

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating