บทความสุขภาพ

เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ ให้ลูกอิ่มหนำสำราญ

Share:

“นมแม่” สุดยอดอาหารจากอกแม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก สำหรับคุณแม่มือใหม่หลายคนที่ยังกังวลเกี่ยวกับการให้นมบุตร บางคนกลัวน้ำนมน้อยไม่พอให้ลูกดื่มกิน บางคนไม่รู้วิธีการกระตุ้นน้ำนม บางคนเจอเหตุการณ์ลูกปฏิเสธเต้านม และอีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คุณแม่มือใหม่หมดกำลังใจในการให้นมลูก คอลัมน์หน้าต่างบานเล็กฉบับนี้ จึงได้รับเกียรติจากคุณหมอมาช่วยแนะนำเนคนิคดีๆ เกี่ยวกับการจัดการน้ำนมแม่ให้ลูกน้อยได้ดื่มกินอย่างอิ่มหนำสำราญมาฝากกัน

น้ำนมน้อย กระตุ้นอย่างไรดี

การผลิตน้ำนมของแม่เป็นกระบวนการอุปสงค์อุปทาน ถ้าลูกดูดเยอะ ดูดบ่อย น้ำนมก็จะผลิตเยอะ แต่ถ้าลูกดูดน้อย น้ำนมก็ผลิตน้อย ทำให้คุณแม่อาจเข้าใจผิดคิดว่าที่น้ำนมไม่ค่อยออกเพราะมีน้ำนมน้อย พอน้ำนมน้อยก็ไม่ยอมให้ลูกดูด แล้วน้ำนมก็จะแห้งไปในที่สุด เมื่อไม่มีการดูดกระตุ้น น้ำนมก็ไม่ผลิต ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติ โดยวิธีการกระตุ้นน้ำนมที่ดีที่สุด คือการใช้เทคนิค ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดนาน ดังนี้

  • ดูดเร็ว คือเมื่อลูกคลอดออกมาภายใน 15-30 นาที ควรให้ลูกดูดนมเลย เพื่อกระตุ้นน้ำนมครั้งแรก
  • ดูดบ่อย คือให้ลูกดูดนมบ่อยๆ วันละ 8-12 ครั้ง หรือตามที่ลูกต้องการ ถ้าลูกร้องงอแง หรือหิวก็ให้ดูดทันที
  • ดูดนาน คือในแต่ละครั้งที่ลูกดูดนมให้ดูดนานๆ ประมาณข้างละ 15 นาที หรือดูดจนกว่าลูกจะเลิกดูดไปเอง

วิธีดังกล่าวจะทำให้น้ำนมผลิตมาอย่างสม่ำเสมอ มีน้ำนมออกมาเต็มที่ โดยในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด ลูกอาจจะดูดน้อย ธรรมชาติสร้างให้แม่กับลูกคู่กัน จึงไม่ต้องกังวลว่าน้ำนมจะไม่พอ ถ้ากระตุ้นด้วยการดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดนาน รับรองว่าจะมีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกแน่นอน

รู้ได้อย่างไร…น้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูก

คุณแม่อาจกังวลว่าลูกต้องการกินนมมากเท่าไหร่ กินอิ่มหรือยัง จึงให้นมตลอดเวลาแม้ลูกอิ่มแล้ว พอถึงเวลาให้นมก็ปลุกขึ้นมาดูด ซึ่งทำให้ลูกอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้งอแง คุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกอิ่มแล้วได้โดย

  • ลูกจะนอนหลับง่าย หลับสบาย ไม่ร้องกวนงอแง
  • อึบ่อย ฉี่บ่อย
  • น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์

ก่อนให้ลูกดูดนมจะมีอาการคัดเต้านม แต่พอลูกดูดเสร็จเต้านมจะนิ่ม ขณะที่ลูกดูดนม เต้านมอีกข้างหนึ่งจะมีน้ำนมไหลซึมออกมา ถือเป็นกลไกที่บอกว่าเรามีน้ำนมเพียงพอให้ลูก

มาบีบน้ำนมด้วยมือกันเถอะ

  1. หากบางครั้งน้ำนมน้อย ไม่ค่อยไหล การบีบน้ำนมด้วยมือจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้
    ล้างมือให้สะอาด ต้องอยู่ในภาวะที่สบาย
  2. อย่าเครียด ผ่อนคลาย และจัดท่านั่งให้อยู่ในท่าที่สบาย
  3. อยู่ในห้องที่เป็นส่วนตัว มิดชิด ไม่มีคนพลุกผล่าน จะช่วยให้คุณแม่ไม่รู้สึกอายที่จะบีบ
  4. ถ้ามีลูกอยู่ด้วยจะยิ่งดีเพราะการที่แม่ได้โอบกอดลูก เป็นการกระตุ้นให้คุณแม่มีความสุข ซึ่งมีผลให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
  5. ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้กดลงไปบริเวณลานหัวนม ให้ห่างจากหัวนมประมาณ 3 เซนติเมตร ให้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้อยู่ตรงกันข้ามกัน แล้วกดเข้าหาตัวเบาๆ กดแล้วบีบให้เป็นจังหวะ เหมือนเป็นการรีดน้ำนมจากบริเวณท่อน้ำนมให้ไหลออกมาตรงปลายสุด อีกมือหนึ่งใช้ประคองเต้าไว้ด้านล่าง เพราะเต้านมมีขนาดขยายใหญ่ มีน้ำหนัก ต้องช่วยประคองไว้
  6. เมื่อบีบจนรู้สึกว่ามุมนี้ไม่มีน้ำนมออกแล้ว ให้ขยับเปลี่ยนมุม โดยหมุนนิ้วชี้และนิ้วโป้งไปยังมุมอื่นๆ ตามขอบลานหัวนม จนไม่มีน้ำนมออกมาแล้วก็ให้พอ ควรใช้เวลาบีบน้ำนมไม่เกิน 30 นาที เพื่อลดอาการเมื่อยล้า
  7. ไม่ควรบีบแรงจนเกินไป หรือบางคนใจร้อนเห็นว่าน้ำนมยังไม่ออกก็ขย้ำเต้านม ซึ่งการทำแบบนี้อาจทำให้เต้านมเกิดการช้ำได้

นวดเต้านม ช่วยให้น้ำนมไหลดี

  1. คุณแม่ที่มีน้ำนมน้อย การนวดเต้านมอาจช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้นได้
  2. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบทิ้งไว้ 3-5 นาที
  3. ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว ค่อยๆ คลึงเบาๆ ที่เต้านม โดยคลึงเป็นวงกลมจากบริเวณฐานเต้านมไปถึงตรงปลายใกล้หัวนม นวดคลึงเบาๆ จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ง่ายขึ้น
  4. ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำนมเยอะ อาจคัดตึงเต้านมได้ ดังนั้น ก่อนให้นมควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบไว้ 3-5 นาที แล้วนวดคลึงเบาๆ ก่อนบีบน้ำนมออก จะช่วยให้รู้สึกสบาย น้ำนมไหลกระจายดี บีบออกมาได้เยอะขึ้น

เต้านมคัด ทำอย่างไรดี

อาการคัดเต้านม เกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี เช่น ลูกอ้าปากไม่กว้าง งับไม่ถึงลานนม ทำให้น้ำนมไม่ออก พอน้ำนมไม่ออก เมื่อมีการผลิตออกมาใหม่ แต่ของเดิมยังคงมีอยู่ก็ทำให้คัดตึงเต้านมได้ คุณแม่บางคนเคร่งคัดต่อการกำหนดเวลาในการให้นมมากเกินไป เช่น ต้องให้ลูกกินเป็นเวลาทุก 3 ชั่วโมง แม้ลูกจะหิวแต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ให้ ซึ่งอาจเป็นเวลาที่น้ำนมมีการผลิต พอไม่ได้มีการดูดออก จึงเกิดคัดตึงเต้านมขึ้น

เพราะฉะนั้น การให้นมต้องให้ตามความต้องการของลูก ลูกอยากกินตอนไหนก็ให้ตอนนั้น การปล่อยให้ลูกหิวจัดอาจทำให้ลูกไม่มีแรงดูด พอจะให้ดูดกลายเป็นว่าลูกไม่ยอมดูด เกิดการปฏิเสธเต้า ไม่ยอมดูดนมได้

ในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรให้ลูกกินนมตามที่ลูกต้องการ อย่ากังวลเรื่องวินัยในการกิน ควรฝึกเรื่องนี้หลัง 6 เดือนไปแล้ว หรือเมื่อลูกเริ่มกินอาหารเสริม

น้ำนมเยอะ ทำให้ลูกสำลักได้ไหม

คุณแม่ที่น้ำนมเยอะอาจทำให้เวลาที่ลูกดูดแล้วกลืนไม่ทัน หรือน้ำนมพุ่งลงไปที่คอหอย ทำให้เกิดการสำลักได้ สัญญาณบอกว่าคุณแม่มีน้ำนมเยอะ ดูได้จากการดูดนมของลูก ว่าลูกดูดนมทันหรือไม่ ดังนี้

ดิ้นทุรนทุรายระหว่างดูดนม เพราะอาจจะดูดและกลืนไม่ทัน เกิดการสำลักได้
หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้ว ให้สังเกตที่หัวนม ถ้ามีสีซีดขาว หัวนมเป็นรอยพับ แสดงว่าน้ำนมเยอะ ทำให้ลูกเอาลิ้นดันไว้ เพราะกลืนไม่ทัน

ดังนั้น ถ้าน้ำนมเยอะคุณแม่ควรบีบเก็บเป็นสต็อกไว้ หรือปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกิน เพื่อให้น้ำนมเหลืออยู่ในเต้าไม่เยอะเกินไป ป้องกันการสำลักนมแม่ได้

หัวนมแตก เกิดได้อย่างไร

หัวนมแตก สาเหตุเกิดจากลูกดูดผิดท่า งับหัวนมไม่ถึงลานนม งับไม่ลึกพอ เกิดการเสียดสี ทำให้หัวนมแห้ง ถลอกและแตกได้ง่าย

วิธีรักษาหัวนมแตกที่ดีที่สุด คือเอาน้ำนมของคุณแม่ทาบริเวณหัวนม เพราะน้ำนมเป็นทั้งสารหล่อลื่น และเป็นทั้งสารฆ่าเชื้อ ทาทิ้งไว้รอจนแห้ง แล้วค่อยใส่เสื้อชั้นใน เพราะถ้ายังไม่แห้งแล้วใส่เสื้อชั้นในเลยจะทำให้เกิดการอับชื้น เป็นเชื้อราได้

หรืออีกวิธีลองเปลี่ยนท่าให้นมบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยให้ตำแหน่งที่ลูกงับไม่ตรงกับตำแหน่งเดิม จะช่วยลดอาการเจ็บได้ เพราะส่วนใหญ่ที่เจ็บหัวนมเป็นเพราะลูกงับอยู่ตำแหน่งเดิมตลอด

ลูกปฏิเสธเต้านม ทำอย่างไรดี

การปฏิเสธเต้านมต้องดูว่าปฏิเสธตั้งแต้ต้น หรือดูดนมมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ เกิดปฏิเสธขึ้นมา กรณีที่ปฏิเสธตั้งแต่แรก คือหลังคลอดไม่ยอมดูดนมจากเต้า อาจเป็นเพราะน้ำนมแม่ยังผลิตไม่พอ พอลูกดูดน้ำนมไม่ออกเลยทำให้หงุดหงิด ไม่ยอมกินต่อ ก็ต้องพยายามช่วยลูกให้ดูดนมจากเต้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมออกมาเพียงพอ

อย่ารีบใช้ขวดนม เพราะคุณแม่บางคนเห็นว่านมยังไม่ออกก็ให้ลูกดูดขวดแทน พอจะกลับมาให้ดูดเต้าอีกครั้งกลายเป็นเรื่องยาก เพราะการใช้ขวดนม หรือจุกหลอกจะทำให้ลูกสับสน ที่สำคัญการดูดจากขวดนั้นดูดง่ายกว่า จะทำให้กลับไปดูดนมแม่ยาก

เต้านมคัด หัวนมแข็ง ทำให้ดูดไม่สะดวก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมดูดได้ ฉะนั้น ในช่วงแรกที่ลูกไม่ยอมดูด พยายามหาสาเหตุ แล้วให้ลูกดูดบ่อยๆ ดูดให้ถูกวิธี จัดท่าดูดให้ถูก ถ้าเต้านมคัดก็บีบออกให้เต้านมนิ่มก่อน และเมื่อลูกเริ่มชินกับเต้านมก็จะดูดเป็นปกติ ส่วนกรณีที่ดูดปกติ แล้วอยู่ๆ ปฏิเสธ มักเกิดจาก ถึงวัยที่มีฟันขึ้น เจ็บเหงือกก็อาจจะไม่ยอมดูด ร้องกวนหงุดหงิด
อาจมีสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจมากกว่า เบี่ยงเบนความสนใจ ห่วงเล่น ทำให้ไม่ยอมกิน
อาจมีภาวะเครียดบางอย่าง หรือมีอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นหูอักเสบ เวลาดูดแล้วทำให้เจ็บหู ลูกก็จะไม่ยอมดูด คออักเสบ เป็นหวัด คัดจมูก ดูดนมไม่ได้ เพราะเวลาดูดลูกต้องอาศัยการหายใจทางจมูก ถ้าคัดจมูกก็จะทำให้ดูดไม่สะดวก เลยไม่ยอมดูด ดูดไป ร้องไป งอแงไป

หากลูกปฏิเสธจากสาเหตุใด แล้วรีบแก้ไขให้ถูกต้องและตรงจุด ลูกก็จะกลับมาดูดนมจากเต้าได้เหมือนเดิม


สอบถามเพิ่มเติมที่ Super Kid’s Center
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 4.1 stars
    4.1 / 5 (11 )
  • Your Rating