บทความสุขภาพ

อัลไซเมอร์ … เมื่อการขี้ลืมไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ

Share:

เชื่อว่าหลายท่านเคยมีอาการเหล่านี้มาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หาโทรศัพท์มือถือไม่เจอทั้งๆ ที่อยู่ในมือตัวเอง เดินหมุนตัวอยู่ในครัวเพราะจำไม่ได้ว่าจะมาหยิบอะไร หนักกว่านั้นลืมบางเหตุการณ์ของเมื่อวานไปเสียสนิท เหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ตัวบ่อยไหม? ถึงแม้จะเป็นอาการหลงลืมเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ในบางกรณีหากเกิดขึ้นบ่อยเกินไป ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป

มาทำความรู้จักกับ “ อัลไซเมอร์ ” กันเถอะ

อัลไซเมอร์ (Alzheimer) เป็นโรคอย่างหนึ่งที่มีการทำลายเซลล์สมองไปเรื่อยๆ มีอุบัติการณ์ตามอายุที่มากขึ้น มักพบในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยของกลุ่มโรคผิดปกติทางสมอง “Dementia” ซึ่งมีการถดถอยในหน้าที่ของสมอง จำเหตุการณ์และช่วงเวลาได้ไม่แน่นอน ความจำเสื่อม มีปัญหาเรื่องการคิดอ่าน หาเหตุผล มีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างแปลกๆ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสม อารมณ์จะไม่สม่ำเสมอ เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติิ

ปัจจุบัน ยังไม่มีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ เป็นการให้การรักษาตามอาการ และชะลออาการของโรคไม่ให้ลุกลามไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น จึงทำให้โรคอัลไซเมอร์แตกต่าง และรุนแรงกว่าอาการสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ วิธีการที่ดีที่สุดคือป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดอัลไซเมอร์ โดยการควบคุมโรคหัวใจ งดการสูบบุหรี่และดื่มของมึนเมา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานผักผลไม้และอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 6 บี 12 และกรดโฟลิค หลีกเลี่ยงอาหารมัน ฝึกสมาธิและการคิดคำนวณ บริหารจัดการความเครียด และอย่าลืมตรวจสุขภาพเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น อายุที่มากขึ้น ประวัติในครอบครัว และการผ่าเหล่าทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการของ Down’s Syndrome มักจะเกิดอัลไซเมอร์ก่อนอายุ 40 ปี

ใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค “ อัลไซเมอร์ ”

  • ผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นมีโอกาสเป็นมากขึ้น พบว่า ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยอายุ 85 ปีเป็นโรคนี้
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง เพราะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ การรักษาความดันจะทำให้ความจำดีขึ้น
  • หญิงวัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ในวัยหมดประจำเดือนของผู้หญิง จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้แก่การเกิดโรคนี้ได้
  • กรรมพันธุ์ ถ้ามีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ หรือปัญญาอ่อน จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ภาวะขาดสารอาหารที่มีแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) ที่ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์
  • ภาวะที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน

รู้ได้อย่างไร ว่าเป็นโรค “ อัลไซเมอร์ ”

  • อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้
  • สับสนเรื่องเวลา สถานที่ กลับบ้านไม่ถูก
  • จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
  • มีปัญหาเรื่องการพูด ลืมหรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
  • ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
  • มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์
  • มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
  • ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น

หากพบว่า ผู้สูงอายุในครอบครอบครัวมีปัญหาดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ควรพามาพบแพทย์อายุรกรรมระบบประสาท เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด และวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากมีโรคหลายอย่างที่มีอาการความจำเสื่อมซึ่งรักษาให้หายได้ เช่น โรคไทรอยด์ ซิฟิลิสขึ้นสมอง หรือโรคขาดวิตามิน B12 เป็นต้น และหากตรวจพบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็จะได้รีบให้การรักษา เพื่อชะลออาการของโรคออกไปให้นานที่สุด


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5400, 5444

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating