บทความสุขภาพ

สังเกตหัวใจเต้นผิดเพี้ยนอย่างไรแสดงว่าหัวใจมีปัญหา

Share:

การเต้นของหัวใจถือเป็นสัญญาณที่สังเกตได้ว่าหัวใจยังปกติดีหรือไม่ ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ใหญ่ทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60 – 100 ครั้งต่อนาที หากเมื่อใดเกิดภาวะที่หัวใจเต้นช้าหรือเร็วมากเกินไป หรือเต้นสะดุด ถือว่าเป็น “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” สามารถแบ่งได้เป็น ภาวะหัวใจเต้นช้า และ ภาวะหัวใจเต้นเร็ว อันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราเร็วผิดปกติ ระยะเวลาที่เกิด รวมทั้งพยาธิสภาพของหัวใจ อาการแสดงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพบได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • หัวใจเต้นช้าเกินไป มีอาการมึนงง หวิว วูบ หมดสติ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือหัวใจเต้นแรงกว่าปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วแบบมีวงจรลัดไฟฟ้า มีอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้นทันที เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นลม
  • หัวใจเต้นสะดุด หัวใจเต้นๆ หยุดๆ ตกวูบ คล้ายตกจากที่สูง หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลมและเจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นแบบสั่นพริ้วที่หัวใจช่องบน ใจสั่น หากมีลิ่มเลือดเกิดในหัวใจอาจทำให้เป็นอัมพาตได้ อันตรายมาก
  • หัวใจเต้นแบบสั่นพริ้วที่หัวใจช่องล่าง มีความรุนแรงมาก เพราะหัวใจช่องล่างทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากไม่สามารถบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดได้เพียงพอ อวัยวะที่จะได้รับอันตรายมากที่สุดคือ สมอง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือภายใน 4-5 นาที อาจทำให้เซลล์สมองเสียหายอย่างถาวรกลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ ความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน และอาจสัมพันธ์กับโรคหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูง หรือความผิดปกติอื่นๆ ซึ่งวินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากขณะตรวจผู้ป่วยไม่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากการได้รับสารกระตุ้นต่างๆ เช่น กาแฟ ชา แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง

การตรวจวินิจฉัยแตกต่างไปตามอาการ

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการ ใช้วินิจฉัยโรคและภาวะผิดปกติของหัวใจเบื้องต้น วิธีนี้จะพบความผิดปกติก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการขณะตรวจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง เป็นเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีขนาดเล็กสามารถพกติดตัวไปได้ เครื่องจะบันทึกคลื่นหัวใจไว้ตลอดเวลา เพื่อให้แพทย์นำมาวินิจฉัยและแปรผลในภายหลัง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาขณะมีอาการ และ การตรวจโดยฝังเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจ ในบางกรณีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาอาจไม่พบความผิดปกติที่แน่ชัด จึงควรเลือกตรวจในวิธีที่ละเอียดกว่านี้
  • การตรวจทางสรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ มักทำร่วมกับการจี้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านสายสวนหัวใจ

นอกจากนี้ การตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีโรคหัวใจชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

เบื้องต้นแพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยาคลายเครียด ยาต้านการเต้นหัวใจผิดปกติ หรือยากระตุ้นหัวใจ เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ได้ผลดี แยกได้ตามชนิดและความรุนแรงของโรค ดังนี้

หัวใจช่องบนเต้นเร็วผิดปกติ ควรรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูงเท่าคลื่นวิทยุ เป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ใช้ยาสลบ โดยสอดสายสวนหัวใจชนิดพิเศษมีขั้วโลหะที่ส่วนปลาย สามารถบันทึกกระแสไฟฟ้าหัวใจให้แสดงบนจอภาพ แพทย์จะขยับสายสวนหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ เมื่อพบจะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 – 60 วินาที โดยทำให้เกิดความร้อนที่อุณหภูมิ 55 องศา ที่ปลายสายสวนหัวใจ ทำให้การนำไฟฟ้าที่จุดนั้นถูกทำลาย หัวใจจะไม่เต้นผิดปกติอีก ซึ่งการรักษาโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกเพียงเล็กน้อย และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 1 คืน

การเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ ควรรักษาด้วย การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) เป็นเครื่องมือขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร หนา 0.5 เซนติเมตร ภายในประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนรับรู้การเต้นของหัวใจ ส่วนส่งพลังงานไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ และส่วนของแบตเตอรี่ โดยทั่วไปจะให้พลังงานได้ 8-10 ปี แล้วแต่ปริมาณการใช้งาน หลังจากใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ทุก 6 เดือน – 1 ปี เพื่อตรวจเช็คเครื่อง ปรับพลังงานและโปรแกรมของเครื่องให้เหมาะสม

หัวใจเต้นเร็วมากและเกิดจากหัวใจช่องล่าง กรณีนี้ถือเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง อาจเกิดจากหัวใจช่องล่างเต้นเร็วมากหรือเต้นพริ้วจนความดันโลหิตต่ำคลำชีพจรไม่ได้ หัวใจจะหยุดสูบฉีดเลือด ถ้าหัวใจไม่กลับมาเต้นเป็นปกติในเวลาอันรวดเร็ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาไม่กี่นาที การรักษาที่ให้ผลดีที่สุดคือการช็อคด้วยไฟฟ้าพลังงานสูงผ่านหัวใจ เพื่อให้สัญญาณไฟฟ้าหัวใจกลับมาเป็นปกติในทันที ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้รับการผ่าตัดใส่เครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดผ่าตัดฝังติดตัวผู้ป่วย (AICD : Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) เมื่อมีสัญญาณหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่องจะส่งไฟฟ้าพลังงานสูงผ่านหัวใจให้สัญญาณไฟฟ้าหัวใจกลับมาเป็นปกติในทันที

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่รักษาจะเป็นอันตรายอย่างไร

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีโอกาสเป็นอัมพาตสูงถึง 10-15% ต่อปี เนื่องจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจจากการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ จะหลุดออกไปอุดหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้

ผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่เคยป่วยด้วยโรคหัวใจ ควรหมั่นดูแลใส่ใจหัวใจ อย่างน้อยตรวจสุขภาพปีละครั้ง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นทั้งหลายที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อฟิตหัวใจให้แข็งแรงยาวนาน


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 3.8 stars
    3.8 / 5 (8 )
  • Your Rating