บทความสุขภาพ

ฉลากยา อย่ามองข้าม

Share:

เวลาที่เราได้รับยา หลายๆ คนอาจสงสัยว่าคำแนะนำบนฉลากยานั้นสำคัญอย่างไร และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามฉลากยานั้นเป็นอย่างไร เช่น กินยาก่อนอาหารหมายถึงก่อนอาหารกี่นาที กินยาหลังอาหารต้องรับประทานหลังอาหารกี่นาที ถ้าลืมกินยาต้องทำอย่างไร และถ้าเราไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นจะมีผลอย่างไร แน่นอนว่าคำแนะนำบนฉลากยาเหล่านั้นล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น และมีวิธีปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้องดังนี้

การกินยาก่อนอาหาร

ปกติแนะนำให้กินยาก่อนอาหารประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารมื้อล่าสุด 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่กระเพาะว่างเนื่องจากอาหารจะลดการดูดซึมยา ทำให้ยาออกฤทธิ์ไม่ดีหรือไม่ได้ผล ตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคติดเชื้อบางชนิด เช่นDicloxacillin, Cloxacillin , Azithromycin เป็นต้น หรือยาเบาหวานบางชนิด เพื่อหวังผลต่อมื้ออาหาร เช่น Glibenclamide เป็นต้น ยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น ยา Metoclopramide, Domperidone เป็นต้น

การกินยาหลังอาหาร

โดยทั่วไปควรกินยาหลังอาหาร 15-20 นาที แต่ยาบางชนิดอาจต้องรับประทานพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันทีเนื่องจากยาทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะได้ เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen, Naproxen, Diclofenac, Mefenamic acid เป็นต้น

กินยาต่อเนื่องจนยาหมด

ยาบางชนิดเมื่ออาการดีขึ้นก็หยุดยาได้ แต่ยาสำหรับรักษาโรคติดเชื้อ จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่ายาได้ทำลายเชื้อก่อโรคหมดแล้ว ระยะเวลาที่กินขึ้นกับชนิดความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ ยาบางชนิดต้องกินต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการให้เป็นปกติ ได้แก่ ยาลดความดันโลหิต ยาเบาหวาน และยาสำหรับรักษาโรคแผลในทางเดินอาหาร เป็นต้น

ยาที่กินแล้วอาจทำให้ง่วงนอน

ผลข้างเคียงของยาบางชนิดอาจทำให้ง่วงซึมจึงต้องระวังเมื่อขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร และห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจเสริมฤทธิ์ของยาจนเกิดอันตรายได้ เช่น ยาแก้แพ้สำหรับบรรเทาอาการคัน ผื่นแดง หรือลดน้ำมูก เช่น Chlorpheniramine, Hydroxyzine หรือยาคลายเครียด เช่น Diazepam, Alprazolam เป็นต้น

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลต่อยา

ยาบางชนิดประสิทธิภาพลดลงเมื่อกินร่วมกับนม แคลเซี่ยม ยาลดกรด เช่น Ciprofloxacin, Levofloxacin, Ofloxacin, Norfloxacin เป็นต้น จึงต้องกินยาโดยเว้นช่วงห่างจากอาหารประเภทดังกล่าวอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ผลไม้บางชนิดเช่น grapefruit มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ที่จะไปทำลายยา จึงทำให้ระดับยาสูงขึ้นจนอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ ยาที่ grapefruit มีผลต่อระดับยา เช่น Simvastatin เป็นต้น

ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นคำแนะนำที่พบบ่อยๆ บนฉลากยา แต่หากท่านมีข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาเภสัชกรโดยตรง


ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านยา รพ.เวชธานี
โทร 02-7340-000 ต่อ 1220
เวลาทำการ ทุกวัน 09.00 – 17.00 น.

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (2 )
  • Your Rating