บทความสุขภาพ

การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง

Share:

อาการปวดหลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมาน อาจมีผลให้ต้องหยุดงาน ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เมื่อเกิดอาการปวดหลัง อาการปวดขาหรือปวดร้าวลงขา หรือมีทั้งอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา การรักษาแบบเป็นขั้นตอนโดยเริ่มต้นจากการหยุดพักผ่อน รับประทานยาที่รักษาอาการปวด การนวด หรือการทำกายภาพบำบัดอาจสามารถทำให้อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้ หากอาการไม่ดีขึ้นยังมีความปวดทรมาน การพบแพทย์เพื่อการตรวจและให้การวินิจฉัยมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง

อาการปวดหลังโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้ประมาณสี่ลักษณะ

ลักษณะแรกมีแต่อาการปวดหลังเท่านั้น ซึ่งมักมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ พังพืดหรือข้อต่อของกระดูกสันหลัง

ลักษณะที่สองมีแต่อาการปวดขาหรือ ปวดร้าวลงขามักมีสาเหตุจากเส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลัง เป็นเส้นประสาทที่ลงมาเลี้ยงที่ขาถูกกดทับหรือเกิดการอักเสบ เช่นที่รู้จักกันมาก ได้แก่ อาการปวดขาจากเส้นประสาทไซเอติกถูกกดทับจากหมอนรองกระดูกระดับเอวเคลื่อน (Sciatic Neuropathy) เป็นต้น

ลักษณะที่สามนั้นผู้ป่วยจะมีอาการทั้งอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา มักมีสาเหตุจากช่องไขสันหลังตีบกดรัดไขสันหลัง เส้นประสาทระดับต้นที่ออกจากไขสันหลัง

ลักษณะสุดท้ายเป็นอาการปวดหลังที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกดทับหรือการอักเสบโดยตรงต่อเส้นประสาท แต่อาการปวดหลังนี้มีสาเหตุมาจากโรคหรือความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง เช่นโรคไส้ติ่งอักเสบ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคของรังไข่หรือมดลูก และอาจเกิดจากโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ในร่างกาย

การรักษาอาการปวดหลังดังกล่าวนี้สามารถทำได้ เมื่อประสาทศัลยแพทย์ได้ทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย การทำการตรวจพิเศษต่างๆ เช่น เอกซเรย์กระดูกสันหลังในท่าทางต่างๆ การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ของกระดูกสันหลังระดับเอว จะเป็นการยืนยันการวินิจฉัยของประสาทศัลยแพทย์ การให้การรักษาที่สาเหตุจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีผู้ป่วยมีอาการปวดหลังและปวดลงขาเป็นผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัวที่จะมีความเสี่ยงสูงในการผ่าตัด หรือเคยทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังมาก่อนแล้วหลายครั้งและยังมีอาการปวดหลงเหลืออยู่ ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังและปวดลงขา โดยที่ประสาทศัลยแพทย์พบว่าอาการปวดดังกล่าวนี้ไม่สามารถอธิบายได้ และอาการปวดกับภาพถ่ายทางรังสีไม่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน การฉีดยาเข้าไปบริเวณเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลังระดับเอว และบริเวณเส้นประสาทไขสันหลังจะสามารถช่วยในการวินิจฉัยและให้การรักษาอาการปวดไปได้ในคราวเดียวกัน

การฉีดยาเข้าไปบริเวณเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลังระดับเอวสามารถทำได้ โดยประสาทศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ และสามารถทำได้หลายวิธี โดยทั่วไปแบ่งเป็นวิธีดั้งเดิมและวิธีที่ใช้เครื่องมือเฉพาะ

การฉีดยาเข้าไปบริเวณเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลังระดับเอวแบบวิธีดั้งเดิม ซึ่งประสาทศัลยแพทย์จะทำการฉีดยาที่เป็นการผสมกันระหว่าง triamcinolone และ ยาชาเฉพาะที่ในอัตราส่วนที่พอเหมาะ โดยทำการฉีดเข้าไปได้ทั้งบริเวณเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลังและเฉพาะเจาะจงลงไปเหนือเส้นประสาท ซึ่งประสาทศัลยแพทย์ได้เลือกไว้โดยได้จากการตรวจร่างกาย ทั้งนี้จำเป็นต้องใส่เข็มเข้าไปขึ้นกับตำแหน่งที่ประสาทศัลยแพทย์ได้จากการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจจะมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง สำหรับการฉีดยาโดยอาศัยเครื่องมือเฉพาะ นั้นมีข้อได้เปรียบกว่า วิธีดั้งเดิมคือ ประสาทศัลยแพทย์สามารถใส่เข็มเข้าไปที่บริเวณหลังของผู้ป่วยเพียงจุดเดียว แต่ประสาทศัลยแพทย์จะสามารถทำการฉีดยาได้ ทั้งบริเวณเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลังระดับเอวและบริเวณเส้นประสาทไขสันหลังในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังอาจฉีดสารลดการเกิดพังผืดในบริเวณที่สงสัยได้

เครื่องมือเฉพาะนี้เป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาพิเศษผลิตจากประทศเกาหลี มีลักษณะที่ประกอบด้วยด้ามจับซึ่งมีกลไกที่ประสาทศัลยแพทย์สามารถควบคุมบริเวณส่วนปลายท่อซิลิโคน ซึ่งมีความยาว 30 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร ที่ปลายด้ามจับอีกด้านหนึ่งมีท่อขนาดเล็กเป็นช่องเปิด สำหรับใช้ฉีดยาเมื่อท่อซิลิโคนเข้าไปในตำแหน่งที่ประสาทศัลยแพทย์ต้องการ

การฉีดยาในลักษณะนี้มีความปลอดภัยและมีรายงานการศึกษามากมายในต่างประเทศ สารสเตียรอยด์ที่ใช้คือ triamcinolone ที่จะช่วยลดอาการอักเสบเฉพาะที่ได้ จะสามารถออกฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 3-6 เดือน หลังการฉีดยาควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะสามารถช่วยให้อาการปวดลดลงจนมีอาการดีขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อนที่ควรทราบได้แก่ อาการแพ้สารที่ฉีดหรือแพ้สีที่ใช้ช่วยในการบอกตำแหน่ง ภาวะติดเชื้อและการมีเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลัง

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์สมองและระบบประสาท
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5400

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (1 )
  • Your Rating