บทความสุขภาพ

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพก

Share:

เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดใหม่ มีการพัฒนาครั้งแรกตั้งแต่ 1970 แล้วเลิกไป ต่อมาได้นำมาปรับปรุงและพัฒนาใหม่ตั้งแต่ 1989 จนสามารถใช้งานได้จริงตั้งแต่ 1996 เป็นต้นมา ในต่างประเทศมีการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวนานกว่า 10 ปี ผลการรักษาดีมาก เป็นที่กล่าวถึงกันมากเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการผ่าตัดแบบนี้ ระหว่างผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมกันเองที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้และผู้ป่วยที่รอการตัดสินใจจากปากต่อปาก ทำให้มีผู้ป่วยร้องขอให้มีการผ่าตัดวิธีนี้ให้กับตนเองกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

ปัจจุบัน มีการผ่าตัดวิธีนี้ในผู้ป่วยอายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่ำกว่า 7,000 ข้อสะโพก เชื่อกันว่าหลังจากที่องค์การอาหารและยาสหรัฐได้อนุญาตให้ทำผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้ (ตั้งแต่ 12 พ.ค. 2549) จะทำให้การผ่าตัดด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในอนาคตอันสั้นนี้ มีการศึกษาใหม่ และศึกษาย้อนหลังผลการใช้ข้อสะโพกที่เป็นโลหะผสมทั้งหัวและเบ้า ซึ่งคล้ายกับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพกนี้ พบว่า อายุการใช้งานควรจะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 20-30 ปี

การผ่าตัดวิธีนี้ หัวสะโพกยังอยู่เหมือนเดิม (head preserving) เฉพาะผิวกระดูกอ่อนที่หัวจะถูกเจียรออกไป และครอบหัวด้วยโลหะผสม ข้อเบ้าเป็นโลหะผสมเช่นกัน ภายภาคหน้าหากชำรุดจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ แพทย์จะเปลี่ยนให้เป็นข้อสะโพกเทียมแบบทั่วไปเทียบเท่ากับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั่วไปเป็นครั้งแรก ซึ่งในขณะนั้นผู้ป่วยดังกล่าวจะมีอายุมากขึ้นแล้ว
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพกเหมาะสำหรับผู้ป่วยกลุ่มใด
การผ่าตัดนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่จะเป็นต้องเปลี่ยนข้อสะโพกในอายุน้อย ข้อสะโพกเสื่อมเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด รองลงมาได้แก่ หัวสะโพกขาดเลือด, ข้อสะโพกรูมาตอยด์ เป็นต้น อายุของผู้ป่วยที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กิจกรรมชีวิตประจำวันในแต่และคน ซึ่งอายุเป็นเพียงเกณฑ์คร่าวๆ ในการพิจารณา โดยทั่วไปอายุน้อยกว่า 60 ปี หรืออายุ 60-65 ปี แต่แข็งแรงและต้องการใช้งานข้อสะโพกมาก ควรได้รับการพิจารณาการผ่าตัดวิธีนี้ด้วย

ผู้ที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพก
มีอายุน้อยกว่า 60-65 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรงต้องการกลับไปใช้ชีวิตปกติ
เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมมาก หรือหัวสะโพกขาดเลือด ระยะ 3 ขึ้นไป โดยที่ความสมบูรณ์ของเบ้าและหัวสะโพกจะต้องเหลืออยู่ ไม่น้อยกว่า 80% โดยเฉพาะบริเวณที่รับน้ำหนักขณะยืน เดิน
ไม่มีโรคไตเรื้อรัง ซึ่งอาจจะทำให้การกำจัดอนุมูลโลหะในกระแสเลือดไม่ดี ทำให้อาจจะมีปัญหาระดับอนุมูลโลหะ ในกระแสเลือดสูงมากได้
ไม่ควรเป็นโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะที่ข้อสะโพก
ไม่ควรมีประวัติการแพ้โลหะหนัก เช่น โครเมียม โครบอลท์ โมลิดินัม เวนาเดียม เป็นต้น

ข้อควรทราบในการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพก

มีการตรวจพบอนุมูลของโลหะในกระแสเลือด และปัสสาวะของผู้ป่วยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่รายงานความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งใดๆ ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ข้อสะโพกชนิดโลหะชนกับโลหะ ตั้งแต่ 1970 ซึ่งผู้ป่วยจำนวนหนึ่งใช้งานมาเป็นเวลานานกว่า 25-30 ปี โดยไม่พบผลข้างเคียงใดๆ และยังไม่มีรายงานการเกิดมะเร็ง ในการผ่าตัดข้อสะโพกแบบใหม่นี้ตั้งแต่เริ่มทดสอบเมื่อปี 1989 เป็นต้นมา ศัลยแพทย์เชื่อว่า โอกาสที่จะเกิดมะเร็งที่เป็นผลมาจากการผ่าตัดชนิดนี้น้อยมาก ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนมาก มีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกคอสะโพกหักได้ ถ้าใช้งานหนักมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรกหลังผ่าตัด การผ่าตัดนี้ไม่สามารถแก้ไขความยาวขาให้สั้นหรือยาวขึ้นกว่าเดิมได้ ผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิงสามารถมีบุตรได้ จากรายงานไม่พบว่า มีข้อห้ามหรืออันตรายใดๆ การผ่านของอนุมูลโลหะไปที่รกและทารก มีปริมาณน้อยมากจนไม่เป็นอันตราย

ขั้นตอนและการเตรียมการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพก

เมื่อท่านได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนผิวข้อสะโพกจากศัลยแพทย์ สิ่งที่ควรรู้และทำความเข้าในการผ่าตัด มีดังนี้

ระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการคาสายสวนปัสสาวะเมื่อการระงับความเจ็บปวดเริ่มขึ้น ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่จะเลือกการผ่าตัด โดยเปิดเยื่อหุ้มข้อสะโพกจากทางด้านหลัง แผลผ่าตัดมักจะยาวกว่าแผลในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั่วไปประมาณ 50% เครื่องพิเศษจะถูกนำมาใช้ในการกรอผิวข้อสะโพกเดิม เพื่อให้เหลือส่วนของกระดูกส่วนหัวและเบ้าส่วนใหญ่ไว้มากที่สุด ศัลยแพทย์จะทำการวัดขนาดที่เหมาะสมของข้อสะโพกเทียมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย เมื่อใส่ข้อสะโพกเทียมแล้ว ศัลยแพทย์จะทำการทดสอบความมั่นคงของข้อสะโพกก่อนที่ปิดแผลผ่าตัดทุกชั้นตามขั้นตอน บางครั้งจะมีการสอดท่อระบายเลือดเพื่อป้องกันลิ่มเลือดขนาดใหญ่ตกค้างในแผลผ่าตัด

หลังผ่าตัด ในช่วงวันหรือสองวันแรก ผู้ป่วยจะได้รับสารน้ำชดเชยทางเส้นเลือดดำ และบางครั้งอาจจะต้องให้เลือดทดแทนประมาณ 1-2 ถุง วิสัญญีแพทย์จะให้ยาระงับปวดหลังผ่าตัดด้วยวิธีต่างๆ อีก 1-2 วันทางการฉีด จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นรับประทานยาแก้ปวด ผู้ป่วยจะได้รับอนุญาตให้รับประทานอาหารได้เมื่อกลับถึงหอผู้ป่วย ศัลยแพทย์บางท่านจะอนุญาตให้เริ่มหัดเดินในเย็นวันที่ได้รับการผ่าตัด แต่โดยส่วนใหญ่จะให้เริ่มหัดเดินลงน้ำหนักในวันที่ 2 หลังผ่าตัด สายระบายเลือด สายสวนปัสสาวะ และสายน้ำเกลือ จะถูกดึงออกภายใน 1-3 วันหลังผ่าตัด แผลเย็บหากเป็นไหมไม่ละลายหรือลวดเย็บจะได้รับการตัดออกในวันที่ 14 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะนอนโรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน เมื่อกลับบ้าน แพทย์จะแนะนำให้ใช้ไม้ค้ำยันเดินลงน้ำหนักเต็มที่ หลีกเลี่ยงการนั่งหรืองอสะโพกมากๆ ในช่วง 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด และอนุญาตให้ขับรถได้ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด

เมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้ว หลัง 6-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยัน แพทย์อนุญาตให้ทำกิจกรรมได้ครบทุกอย่าง ให้เล่นกีฬาหนักๆ ได้ โดยจะค่อยเป็นค่อยไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งจะต่างจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั่วไปที่แพทย์จะจำกัดไม่ให้ทำงานหนัก เดินหรือวิ่งมากๆ หรือเล่นกีฬาหนักๆ เนื่องจากจะทำให้อายุการใช้งานสั้นลงมาก

NICE Guildlines ในเดือนเมษายน 2002 the National Institute for Clinical Excellence (NICE) ซึ่งเป็นหน่วยของรัฐในประเทศอังกฤษได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่สนใจรับการ ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพกเทียม มีใจความสรุปได้ว่า
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพกเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อสะโพกขั้นสุดท้าย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษา และต้องการอายุการใช้งานของข้อเทียมที่ยาวนาน

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพกควรกระทำโดยศัลยแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนเทคนิคการผ่าตัดแบบนี้โดยตรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือของการผ่าตัดนี้อย่างเพียงพอก่อนที่จะมีการตัดสินใจทำ โดยเฉพาะในด้านโอกาสการผ่าตัดซ้ำสองในอนาคตเปรียบเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั่วไป ผู้ป่วยสามารถของอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nice.org.uk/
สกรูที่ยึดเส้นเอ็นไขว้ใหม่ต้องผ่าตัดออกหรือไม่
แพทย์จะใช้สกรูยึดหัวท้ายเส้นเอ็นแบบละลาย ได้ จึงไม่ต้องเอาออก โดยทั่วไปสกรูจะละลายหมดได้เองใน 2-3 ปี หลังผ่าตัด 6 เดือนขึ้นไป หัวท้ายของเส้นเอ็นจะเปลี่ยนสภาพยึดติดกับกระดูกของผู้ป่วยได้เองโดยไม่ต้อง ใช้การยึดตรึงของสกรู ดังนั้นจึงมีเวลานานพอที่จะให้เส้นเอ็นยึดติดกับกระดูกก่อนที่จะสกรูละลาย หมด

สรุป

ถึงแม้ว่าการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพกจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้น ตลอดเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ผลการผ่าตัดที่และ อายุการใช้งานได้เป็นที่ยอมรับทั้งศัลยแพทย์ และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดสามารถ กลับไปดำรงชีวิตอย่างปกติ โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ความเข้าใจในบทบาทของข้อสะโพกเทียมที่ทำด้วยโลหะชนกับโลหะในปัจจุบัน ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถเอาชนะอุปสรรคในด้านอายุการใช้งาน ในผู้ป่วยอายุได้อย่างมาก และช่วยให้คุณภาพชีวิตที่เหลือของผู้ป่วย ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อสะโพกเสื่อม จะเห็นช่องว่างของข้อในส่วนของกระดูกอ่อนแคบลงไป
ข้อสะโพกเทียมทั่วไปจะมีก้านโลหะเสียบเข้าใน โพรงกระดูกต้นขาหัวสะโพกเป็นโลหะ เบ้าเป็นพลาสติกทางการแพทย์

ข้อสะโพกเทียมที่ใช้ในการเปลี่ยนผิวข้อสะโพกส่วนหัวและเบ้าเป็นโลหะ ส่วนหัวมีลักษณะครอบลงไปที่หัวข้อสะโพก แทนการตัดข้อสะโพกเดิมออก
เมื่อครอบไปที่หัวข้อสะโพก กระดูกส่วนใหญ่ยังคงอยู่โดยไม่ถูกตัดออกไป

เมื่อเปลี่ยนผิวข้อสะโพกเทียมแล้วกระดูกข้อสะโพกส่วนใหญ่ยังคงอยู่

ข้อสะโพกเทียมทั่วไปต้องตัดกระดูกส่วนคอออกแล้วเสียบทั้งแท่ง เข้าไปในโพรงกระดูกต้นขาวัสดุรองเบ้าเป็นพลาสติกทางการแพทย์ หัวสะโพกเป็นโลหะมีอายุการใช้งานไม่ยืนยาวหากใส่ให้ในผู้ป่วย ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี

ข้อสะโพกเสื่อมจะมีผิวกระดูกอ่อนสึกหรอ รอบๆ มีกระดูกยื่นออกมา

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั่วไปต่างจากการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อสะโพกอย่างไร
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั่วไป เป็นมาตรฐานในการรักษาโรคข้อเสื่อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป การผ่าตัดชนิดนี้จะตัดหัวข้อสะโพกทั้งหัวออกไป แล้วแทนที่ด้วยหัวข้อสะโพกโลหะผสม (Alloy) ที่มีก้านยื่นออกมาเพื่อเสียบลงไปที่กระดูกต้นขา ส่วนเบ้าของข้อสะโพกสามารถวัสดุรองเข้าได้หลายแบบ เช่น พลาสติกแข็งพิเศษทางการแพทย์ (Ultra High Molecular Weight Polyethylene), กระเบื้องเซรามิค หรือโลหะผสม

การผ่าตัดชนิดนี้มีปัญหาการสึกหรอ ทำให้อายุการใช้งานสั้น ถ้าทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยสูงอายุซึ่งมีการใช้สะโพกน้อย จะอยู่ได้นาน 15-25 ปี แต่ถ้าทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยอายุน้อยซึ่งมีการใช้งานมาก อายุการใช้งานจะเหลือเพียง 5-10 ปีเท่านั้น จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะทำการผ่าตัดให้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยที่มีอายุน้อยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกทั่วไป แพทย์จะไม่อนุญาตให้เล่นกีฬาหนัก เช่น ฟุตบอล เทควันโด เทนนิส ฯลฯ ไม่อนุญาตให้ยกของหนัก หรือทำงานหนักมาก เพื่อถนอมให้ข้อสะโพกเทียมนี้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์
ได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อม ชั้น 3 อาคาร 1 รพ. เวชธานี โทร. (02) 734 – 0000 ต่อ 2222 – 2224

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating