บทความสุขภาพ

การช่วยเหลือผู้ป่วย “ข้อเคล็ด ข้อเคลื่อน กระดูกหัก”

Share:

อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดข้อเคล็ด ข้อแพลง หรือกระดูกหัก ข้อหลุดเลื่อน มักพบเห็นอยู่เป็นประจำ หลายรายไม่รู้ว่าจะต้องปฐมพยาบาลอย่างไร และบางรายก็อาจใช้วิธีการที่ผิดๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วย แทนที่จะหายกลายเป็นเลวร้ายกว่าเดิม ต่อไปนี้เป็นวิธีการช่วยผู้ป่วยดังกล่าวก่อนถึงมือแพทย์อย่างปลอดภัย

ข้อเคล็ด ข้อแพลง
ถ้าผู้ป่วยสวมรองเท้าอยู่อย่าถอดออก ใช้ผ้าสามเหลี่ยมพันยึดข้อเท้าให้อยู่นิ่งๆ ถ้าเท้าเปล่าให้ผู้ป่วยนอนลงยกปลายเท้าสูงขึ้น ใช้ผ้าห่อก้อนน้ำแข็งประคบรอบๆ ข้อ แต่ถ้าสงสัยว่าอาจมีกระดูกแตกร้าวให้นำส่งแพทย์อย่าให้ยืนหรือเดิน ให้ใช้น้ำร้อนประคบ

ข้อเคลื่อน ข้อหลุด
ถ้าหัวกระดูกหลุดออกจากเบ้า รูปร่างของข้อจะเปลี่ยนแปลงไป และข้อจะติดขัดเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างปกติ จะมีอาการปวดและบวมบริเวณข้อนั้น อย่าพยายามดึงข้อเข้าที่เอง เพราะอาจเกิดอันตรายถึงขั้นกระดูกหักได้ ให้ข้อนั้นอยู่นิ่งๆ ในท่าที่เป็นอยู่ และนำผู้ป่วยส่งแพทย์

กระดูกหัก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
กระดูกหักชนิดธรรมดา ไม่มีทางติดต่อกับผิวหนังภายนอก
กระดูกหักชนิดแทรกซ้อน มีทางติดต่อกับผิวหนังภายนอก เช่น กระดูกหักตำทะลุออกมานอกเนื้อ ถูกสิ่งสกปรก หรือถูกกระสุนปืนยิงทะลุกระดูกแตก

ปฐมพยาบาลจะต้องระมัดระวังไม่ทำให้กระดูกหักชนิดธรรมดากลายเป็นกระดูกหักชนิดแทรกซ้อน เพราะการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี จะทำให้รักษาหายช้า หรืออาจทำให้พิการได้

อาการของกระดูกหัก
เจ็บปวด บวม และเคลื่อนไหวตามปกติไม่ได้ตรงบริเวณที่มีกระดูกหัก
เวลาจับกระดูกอาจได้ยินเสียงกระดูกหักเสียดสีกันกรอบแกรบ
รูปร่างเปลี่ยนไป เช่น คดงอ โก่ง โป่งออก ฯลฯ

การปฐมพยาบาล
เพื่อไม่ให้ชิ้นส่วนของกระดูกที่หักเคลื่อนไหว อันอาจเกิดอันตรายตำทะลุหลอดเหลือดเส้นประสาท หรือตำทะลุออกมานอกเนื้อ จะต้องเข้าเฝือกชั่วคราวก่อนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทุกครั้ง

หลักการเข้าเฝือก
เมื่อกระดูกหักการเคลื่อนไหวของข้อย่อมทำให้ชิ้นกระดูกที่หักเคลื่อนไหวไปด้วย จนอาจเกิดอันตราย ดังนั้นการจะให้ชิ้นส่วนกระดูกที่หักอยู่นิ่งๆ ทำได้โดยการยึดข้อกระดูกให้อยู่นิ่งด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น ใช้ไม้ดาม แฟ้ม กระดาษแข็ง หนังสือพิมพ์ ฯลฯ พับทบให้ยาวพอที่จะยึดให้อยู่นิ่งๆ โดยมีหลักว่า ต้องยึดข้อกระดูก 1 ข้อเหนือรอยกระดูกหัก และ 1 ข้อใต้รอยกระดูกหักให้อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว

ถ้าเป็นกระดูกหักชนิดแทรกซ้อน ต้องปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาด พันผ้าแล้วจึงเข้าเฝือกชั่วคราว ถ้ามีเลือดออกต้องห้ามเลือดโดยวิธีขันชะเนาะ อย่าพยายามดึงกระดูกเข้าที่เอง และให้การปฐมพยาบาล ณ ที่ๆ ผู้ป่วยนอนอยู่ก่อนเคลื่อนย้าย


โทร. 0-2734-0001
เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง

  • Readers Rating
  • Rated 4 stars
    4 / 5 (4 )
  • Your Rating