บทความสุขภาพ

ส่อง 8 โรคผิวหนัง ที่ต้องพึงระวังในฤดูร้อน

Share:

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2560 และจะสิ้นสุดฤดูร้อนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งแสงแดดในฤดูร้อนก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ ได้แก่

ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณต่อมไขมัน หรือ เซ็บเดิร์ม

เนื่องจาก อากาศร้อนเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้การทำงานของต่อมไขมันมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นเห่อ อักเสบ แดง คัน เป็นขุย สะเก็ดมัน มักพบบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หน้าอก หลัง หนังศีรษะ และอวัยวะเพศ ซึ่งวิธีการรักษา ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องทายาลดอาการอักเสบ ครีมบำรุงชุ่มชื้น และหลีกเลี่ยงการขัดถูระคายเคืองผิวหนัง

การติดเชื้อราในผิวหนังชั้นตื้น

เช่น โรคกลาก เกลื้อน และแคนดิดา มักพบได้บ่อยบริเวณในร่มผ้า ราวนม ซอกพับ ขาหนีบ และรักแร้ เนื่องจากเป็นบริเวณที่กักเก็บความอบ อับชื้น ทำให้เกิดการเจริญเติบโตมากขึ้นของเชื้อรา ดังนั้น ในฤดูร้อน ควรทำความสะอาดผิวหนังให้สะอาดไม่อับชื้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว การติดเชื้อราที่ผิวหนังสามารถรักษาได้ด้วยการทายาแต่ในรายที่เป็นมาก แพทย์มีความจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยารับประทานร่วมด้วย

Pitted Keratolysis

หรือ รู้จักกันในนามโรคเท้าเหม็น คือการติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าในชั้นตื้น ผู้ป่วยมีผิวหนังเป็นหลุมและมีกลิ่นเหม็นมาก ในฤดูร้อนผู้ป่วยจะมีการหลั่งเหงื่อมากเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยควรดูแลรักษาความสะอาดของมือและเท้า ร่วมกับหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าอับเป็นเวลานานๆ

รูขุมขนอักเสบ

ในฤดูร้อนผู้ป่วยมีการหลั่งเหงื่อเพิ่มขึ้น การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้นที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบของรูขุมขนที่ผิวหนังโดยเฉพาะบริเวณซอกพับ ขาหนีบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเป็นฝีได้ ผู้ป่วยควรใส่เสื้อผ้าโปร่งบาง อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่รัดแน่นเกินไปและทำความสะอาดผิวหนังให้สะอาดไม่อับชื้น ในช่วงฤดูร้อน

โรคลมพิษ

เกิดจากแสงแดดที่มีความเข้มข้นสูงในช่วงฤดูร้อน ซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลต เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถกระตุ้นผื่นลมพิษ ลักษณะผื่นลมพิษจะเป็นปื้น นูน แดงที่ผิวหนัง โดยลมพิษมักหายได้เองในระยะเวลา 24 ถึง 48 ชั่วโมง ในรายที่เป็นมากควรมาพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม

ผิวไหม้จากแสงแดด

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยหลังจากผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดที่มีความเข้มสูงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ผู้ป่วยมีผิวสีแดง แสบร้อน และลอกของผิวหนัง หลังสัมผัสแดด ในช่วงหน้าร้อนควรปกป้องผิวจากแสงแดด เช่น ทาครีมกันแดด ใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม เพื่อป้องกันผิวไหม้จากแสงแดด ลดการเกิดปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังตลอดจนป้องกันการเกิดริ้วรอยในอนาคต

ฝ้า

มีลักษณะเป็นปื้นสีดำ หรือน้ำตาล พบบ่อยบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรง เช่น โหนกแก้ม หน้าผาก แสงแดดความเข้มข้นสูงในฤดูร้อนเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สามารถกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสี ( melanocytes ) ทำงานมากขึ้น ผลิตเม็ดสี (melanin ) เพิ่มมากขึ้น การปกป้องผิวด้วยการทาครีมกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง เป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันการเกิดฝ้า

ผด

เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ลักษณะเป็นเม็ดเล็กใส สีแดง มักพบบริเวณใบหน้า ลำคอ ตัว ข้อพับแขนและขา ร่วมกับมีอาการคัน ผู้ป่วยควรเลือกเสื้อผ้าโปร่ง เนื้อบางเบา ระบายอากาศได้ดีสำหรับสวมใส่ในฤดูร้อน เพื่อป้องกันการเกิดผด
อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องแสงแดด ควรทาครีมกันแดดเพื่อเป็นการปกป้องผิวพรรณ แต่หากเกิดอาการต่างๆขึ้นมาแล้วก็ไม่ควรจะนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องมากที่สุด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ผิวหนังและความงาม ชั้น 11 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734 0000 ต่อ 4200, 4254

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (5 )
  • Your Rating