บทความสุขภาพ

8 โรคผิวหนังที่แฝงมากับลมหนาว

Share:

ลมหนาวเริ่มผ่านมากระทบผิว ให้ได้รู้สึกถึงอากาศที่ลดลง ทำให้ร่างกายต้องปรับสภาพ หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งมีโรคหลายๆ โรคที่แอบแฝงมากับความเย็น

พญ.ภาวดี ศึกษากิจ แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111 กล่าวว่า ช่วงที่ลมหนาวมาเยือนสลับกับอากาศร้อนและฝนในบางช่วง มักทำให้เกิดโรคที่มาจากไวรัส ซึ่งแสดงออกผ่านทางผิวหนัง โดยแบ่งเป็นโรคใหญ่ๆ ได้ถึง 8 โรค ได้แก่

1.โรคสุกใส หรืออีสุกอีใส

เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด สามารถติดต่อได้ทางอากาศ น้ำมูก น้ำลาย   สัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสโดยตรง หรือการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย อาการที่แสดงออกจะเริ่มจากการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร   อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ ต่อมาจะเริ่มมีตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นตามผิวหนัง

กลุ่มคนที่มีความเสี่ยง โดยมากจะเกิดกับเด็กเล็กๆ วัยรุ่น จนถึงในวัยหนุ่มสาว แต่ก็มีเกิดกับผู้ใหญ่ได้บ้าง ซึ่งหากเกิดกับผู้ใหญ่ อาการของโรคมักจะรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อน มากกว่าในเด็ก หรือในวัยหนุ่มสาว
การป้องกัน : ฉีดวัคซีน

การรักษา

  • แพทย์จะประเมินผู้ป่วยตามอาการที่เกิดขึ้น หากมีไข้ จะสั่งยาลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพรินเด็ดขาด
  • ทำความสะอาดร่างกาย ให้ยาแก้คัน และในผู้ป่วยบางราย อาจมีการให้ยายับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสร่วมด้วย
  • ห้ามไม่ใช้ข้าวของปนกันผู้อื่น
  • พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำมากๆ
  • ควรแยกผู้ป่วยออกจากคนที่ไม่เคยเป็นโรค จนกว่าตุ่มน้ำสุดท้ายจะแห้งตกสะเก็ด คือ พ้นระยะติดต่อแล้ว

2. โรคงูสวัด

เกิดจากเชื้อไวรัส ชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดสุกใส (Varicella virus) เมื่อติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคสุกใส และเมื่อหายแล้ว เชื่อจะยังอยู่ในร่างกายตลอดไป หลบอยู่ตามปมประสาท รอเวลาร่างกายอ่อนแอ ไวรัสที่แฝงอยู่จะกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของโรคงูสวัด

อาการของโรค มักจะมีปวดเมื่อยเนื้อตัว อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ ปวดแปล๊บหรือปวดแสบ หรือปวดแสบร้อนในบริเวณที่เป็น จากนั้นจะเริ่มมีตุ่มน้ำใสๆ เป็นกระจุกปนปื้นแดง พบได้บ่อยบริเวณลำตัว แต่ก็สามารถเป็นได้ในบริเวณอื่นๆ

การรักษา

แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน หลังเกิดอาการเพื่อลดความรุนแรง หรือให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และจะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลในกรณีที่เป็นรุนแรง
หากงูสวัดขึ้นตา จะต้องไปพบจักษุแพทย์ เพื่อให้ยาต้านไวรัสชนิดทานและหยดตา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

3. โรคเริม

เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม HERPES (Hsv–1/Hsv-2) เริมจะมีลักษณะเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำขนาดเล็กๆ พบได้บ่อยที่บริเวณเนื้ออ่อนๆ เช่น ริมฝีปาก, อวัยวะเพศ และก้น ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นซ้ำๆ บริเวณเดิมๆ

อาการเมื่อติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หากเคยเป็นมาแล้วสามารถเป็น หากเกิดภาวะเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ หากเคยเป็นมาบ่อยๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเจ็บๆ คันๆ เท่านั้น และมักมีประวัติเครียด พักผ่อนไม่พอ ร่างกายอ่อนแอก่อนที่ตุ่มน้ำจะขึ้น

การรักษา

  • ถ้าอาการรุนแรง แพทย์จะให้ยาทา และรับประทานยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพื่อต้านการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส
  • หากมีภาวะแทรกซ้อน หรือการติดเชื้อแพร่กระจาย ผู้ป่วยต้องรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาเข้าหลอดเลือดดำและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ผู้ป่วย ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ผู้ป่วย มะเร็ง ผู้สูงอายุ
  • การใช้ยารับประทาน จะช่วยทำให้ผื่นหายเร็วขึ้น

4. โรคหัด

มักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ช่วงอายุประมาณ 1 ปี ถึงช่วงวัยประถมศึกษา โรคหัดมักติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ อาการ จะมีไข้สูง ไอมาก ตาแดง คล้ายเป็นหวัด ต่อมาจะมีผื่นแดงขนาดเล็กๆ ขึ้นตาม แขน

การรักษา

  • ปฏิบัติตัวเหมือนรักษาโรคไข้หวัด คือ พักผ่อน ดื่มน้ำสะอาด หากมีไข้สามารถทานยาลดไข้ได้
  • ควรแยกผู้ป่วยออกจากคนใกล้ชิด จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ
  • บางราย อาจมีอาการหอบ หายใจเร็วกว่าปกติ แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที

5. โรคหัดเยอรมัน

สามารถติดต่อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ หากเกิดขึ้นกับสตรีมีครรภ์อาจทำให้ทารกพิการได้ อาการของโรคนี้ คือจะมีไข้ต่ำๆ ร่วมกับอาการปวดเมื่อยตามตัว และจะมีผื่น แดงเป็นปื้นขึ้นที่หน้า และขึ้นเต็มตัวภายใน1 วัน

การรักษา

  • ปฏิบัติตัวเหมือนรักษาโรคไข้หวัด คือ พักผ่อน ดื่มน้ำสะอาด หากมีไข้สามารถทานยาลดไข้ได้
  • ควรแยกผู้ป่วยออกจากคนใกล้ชิด จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ บางราย อาจมีอาการหอบ หายใจเร็วกว่าปกติ แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที
  • หากมีอาการคันร่วมด้วยจะต้องทายาแก้ผดผื่นคัน

6. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)

ลักษณะจะเป็นผื่นแดง แห้ง ลอกและมีอาการคัดผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับแขน, ขา,ใบหน้า สามารถพบได้แทบทุกฤดูกาล แต่ในช่วงฤดูหนาวผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีโอกาสเกิดมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันตามร่างกายอย่างรุนแรง หากเกาจะทำให้เกิดแผลถลอกและติดเชื้อได้

การรักษา

ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น

  • การเลือกสบู่ หรือ ครีมอาบน้ำที่อ่อนโยน และไม่ควรอาบน้ำร้อนจนเกินไป
  • การเลือกใส่เสื้อผ้า ควรใส่เสื้อผ้าเนื้อนุ่ม ระบายอากาศ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้มีเหงื่ออออกมาก
  • ควรเลือกโลชั่นหรือครีมทาผิว ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและสารกันเสีย เพราะอาจทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น
  • ไม่ ถู ขัด เกา บริเวณที่เป็นผื่น นอกจากนี้การพักผ่อน การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

7. ผื่นผิวหนังอักเสบ (Seborrtheic dermatitis)

จะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีสะเก็ด เป็นมันๆ โดยมากจะเกิดบริเวณร่องข้างจมูก     หว่างคิ้ว หน้าหู และหนังศีรษะ โดยเฉพาะหน้าหนาวยิ่งทำให้ผิวแห้ง จึงทำให้ผื่นชนิดนี้มีโอกาสเกิดได้มากขึ้น

การรักษา

  • ระยะเฉียบพลัน ให้ประคบด้วยน้ำเกลือ จนกว่าจะแห้งจึงหยุดประคบ
  • ระยะปานกลาง แพทย์จะให้ทายาสเตียรอยด์ แต่จะต้องอยู่ที่ตำแหน่งของผื่นด้วย
  • ระยะเรื้อรัง การใช้ยาสเตียรอยด์ผสม Salicylic acid จะช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น

8.เชื้อรา กลาก (ring worm หรือ tinea)

เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ ซึ่งจะเกิดที่ผิวหนังชั้นนอกสุด  เช่น คอ ลำตัว แขนขา ศีรษะ เล็บ ติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรง และติดต่อง่าย

การรักษา

  • ทาขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน ติดต่อกันทุกวันประมาณ 3-4 สัปดาห์
  • ผู้ที่เป็นๆ หายๆ การใช้ยาทาเพียงอย่างเดียวอาจทำให้หายช้า จะต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานร่วมด้วย ซึ่งการรับประทานยาจะต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์

สำหรับวิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกลาก

  • ควรทำความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับและซอกต่างๆ ของร่างกาย  อย่าปล่อยให้เปียกชื้น และระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้นอยู่เสมอ
  • ควรแยกสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ไม่ควรใช้สิ่งของเหล่านี้ปะปนกับ
  • ห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์ทารักษาโรคกลาก เพราะอาจจะทำให้โรคลุกลามได้

พญ.ภาวดี ศึกษากิจ
แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังเลเซอร์และความงาม
โรงพยาบาลเวชธานี ลาดพร้าว 111

  • Readers Rating
  • Rated 3.3 stars
    3.3 / 5 (6 )
  • Your Rating