บทความสุขภาพ

โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน (Stroke) สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต

Share:

โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ที่เป็นมักมีอาการอย่างเฉียบพลัน บางรายโชคดีถึงมือแพทย์เร็วทันเวลาก็อาจรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่บางรายต้องกลายเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต และบางรายต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง คนใกล้ชิด ไปจนถึงผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม

โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน หรือ Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะเกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือด อยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ เช่น ตามองไม่เห็น ชาครึ่งซีก หรือเป็นอัมพาตแบบครึ่งซีก พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักเกิดในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังสร้างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

สาเหตุของหลอดเลือดอุดตัน

  • เกิดจากมีการตีบของเส้นเลือด โดยมีไขมันไปเกาะผนังหลอดเลือดด้านในของหลอดเลือดสมอง
  • มีลิ่มเลือดแข็งตัวขนาดเล็กเกาะที่ลิ้นหัวใจและผนังหัวใจ หลุดลอยไปตามกระแสเลือดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ผนังหัวใจรั่ว
  • เกิดจากมีการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านในทำให้เส้นเลือดอุดตัน
  • เกิดจากความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดซึ่งแข็งตัวเร็วเกินไป โดยที่เลือดขาดสารบางอย่าง หรือมีเม็ดเลือดแดง หรือเกร็ดเลือดมากเกินไป

อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย

  • ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน
  • มีอาการชา อ่อนแรง และหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย
  • พูดลำบาก หรือฟังไม่เข้าใจ
  • เวียนศีรษะ การทรงตัวไม่ดี เดินเซ
  • กลืนลำบาก
  • ปวดศีรษะ (บางครั้งจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง)

ซึ่งอาการอาจจะแสดงออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน โดยถ้าผู้ป่วยกลับคืนมาปกติใน 24 ชั่วโมง เรียกว่า TIA (Transient Ischemic Attack) หรือ Mini stroke ถ้าพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาและวินิจฉัยโดยด่วน

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบ

  • โรคความดันโลหิตสูง ผู้มีความดันโลหิตสูงกว่า 160/90 mmHg เป็นระยะเวลานาน จะทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ ส่งผลทำให้สมองทำงานผิดปกติ เกิดหลอดเลือดตีบตันหรือแตก
  • โรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองถูกอุดตันและเกิดอาการต่างๆ ที่กล่าวมาได้
  • โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดหลุดไปอุดเส้นเลือดสมอง
  • การสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงก่อให้เกิดเส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตันที่สมองและหัวใจ
  • ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเร็วกว่าปกติ
  • ดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ฮอร์โมนบางอย่าง โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้หลอดเลือดดำในสมองอักเสบและเส้นเลือดสมองตีบ
  • โรคอ้วน

การป้องกันที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

  • งดสูบบุหรี่
  • ควบคุมอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ถ้าเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หากมีอาการ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด – ควรตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง เพราะอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง
  • การจะทราบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เป็นโรคหเส้นเลือดสมองตีบหรือไม่ เป็นที่จุดใด ความรุนแรงเพียงใดนั้น ควรทำการตรวจโดยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ให้ผลละเอียดและมีความแม่นยำสูง เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งมีหลายวิธี อาทิ การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI และ MRA) การตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดในสมอง (Transcranial Doppler : TCD) และการตรวจหลอดเลือดคอ เป็นต้น ซึ่งผลที่แม่นยำและละเอียดพอจะสามารถช่วยทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรักษาเส้นเลือดสมองตีบ

สิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในการรักษาโรคเส้นเลือดสมองตีบตันคือ การทำให้เซลล์ของสมองยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด ถ้าเราสามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลาและในระดับที่เพียงพอ ก็สามารถทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งการรักษานี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolysis) การให้ยานี้ผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเท่านั้น หลังจากให้ยาแล้วผู้ป่วยควรอยู่ในโรงพยาบาล 2-3 วันเพื่อดูอาการต่อไป หากเกิน 3 ชั่วโมงแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อทำการรักษาเส้นเลือดสมองตีบด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยมากที่สุด เช่น

  • รักษาโดยการให้ยาบางประเภท เพื่อให้เซลล์สมองเสียน้อยที่สุด โดยระยะแรกๆ ควรจะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อน บำบัดรักษาโรคอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง โรคไต ปอดบวม กลืนลำบาก เป็นต้น
  • ใช้กายภาพบำบัดในรายที่เป็นอัมพาต ไม่ว่าจะเป็นการฝึกนั่ง ยืน เดิน การฝึกกลืน ฯลฯ
  • ในรายที่ซึมเศร้า เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต มักจะให้การรักษาโดยใช้จิตบำบัด
  • ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูมากที่สุด เพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองหรือเป็นอิสระมากที่สุด ผู้ป่วยบางรายช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทีมแพทย์และพยาบาล ควรจะมีการติดตามอาการผู้ป่วยขณะบำบัดที่บ้านด้วย

ความประมาทของชีวิตในวัยหนุ่มสาว ที่มีความเชื่อมั่นในสุขภาพร่างกายของตนเองเกินไป ใช้งานร่างกายอย่างหนัก ละเลยการดูแลรักษาสุขภาพ ไม่เคยได้ฉุกคิดว่าวันหนึ่งร่างกายย่อมมีความเสื่อมไปตามกาลเวลา เหมือนอะไหล่ที่ไม่ได้รับการขัดถูดูแล ย่อมเสื่อมสภาพและชำรุดในที่สุด ร่างกายก็เช่นเดียวกันเมื่อโรคร้ายมาเยือนจนต้องรับการรักษาอันยืดเยื้อแสนทรมาน หากจะนึกย้อนเสียดายวัยหนุ่มสาวในภายหลัง ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ได้แต่ทำใจเท่านั้น

…สุขภาพดีสร้างได้ ไม่ใช่ความโชคดี แต่เป็นเรื่องของแนวคิดและวิธีในการปฏิบัติต่อร่างกายของตัวเอง…


สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท

โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5400, 5444

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (3 )
  • Your Rating