บทความสุขภาพ

แสงแดดทำลายผิวไหม้ ฝ้า ผด กลิ่นตัว แพทย์แนะวิธีป้องกัน

Share:

Sunlight damages
 

แสงแดด ความร้อน และเหงื่อ เป็น 3 ปัจจัยหลักที่มากับหน้าร้อน และเป็นสาเหตุสำคัญหลักที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังในหน้าร้อน…

1.ผิวไหม้จากแสงแดด

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยหลังจากการสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะแสงแดดที่มีความเข้มค่อนข้างสูงในช่วงฤดูร้อน รังสียูวีบีเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ในรายที่เป็นน้อยจะพบว่าผิวมีสีแดงมากขึ้นหลังจากสัมผัสแดด ในรายที่เป็นมาก คนไข้อาจมีอาการแสบร้อนแดง และลอกของผิวหนัง ซึ่งมีความจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา การปกป้องผิวจากแสงแดด เช่น การทาครีมกันแดด การใส่หมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว การกางร่ม เป็นสิ่งที่สำคัญป้องกันก่อนที่จะเกิดผิวไหม้จากแสงแดด ในผู้ป่วยที่มีผิวไหม้จากแสงแดดบ่อยๆ มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังในภายหลัง และแสงแดดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดริ้วรอย รวมถึงการเสื่อมสภาพของเส้นใยคอลลาเจน และอิลาสตินใต้ผิว

2.ฝ้า

คือ ความผิดปกติของเม็ดสีในชั้นตื้น แสงแดดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญมากในการเกิดฝ้า และกระแดด ฝ้ามีลักษณะเป็นปื้นสีดำ หรือน้ำตาล มักพบบ่อยบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณส่วนนูนของใบหน้า เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม และขมับ ดังนั้น การปกป้องผิดจากแสงแดดด้วยการทายากันแดดที่มีค่าปกป้อง ทั้ง UVB (SPF มากกว่า 50) และ UVA (PA+++) ในปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตรทุกครั้งที่ออกแดดจัด จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และสำคัญมาก นอกจากยาทากันแดด และยารักษาฝ้าแล้ว ในปัจจุบัน ยังมีเทคโนโลยีทันสมัยมากมายที่นำมาใช้ในการรักษาฝ้า เช่น แสงความเข้มข้นสูง เลเซอร์ การผลักวิตามินเข้าสู่ผิวหนัง และการพ่นละอองน้ำ ซึ่งหลักการรักษาที่ได้ผลดีมากในปัจจุบัน คือ การรักษาแบบผสมผสาน ใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน รวมถึงการป้องกันผิวจากแสงแดด

3.ผด

มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กใสสีแดงๆ มักพบบริเวณใบหน้า ลำคอ ตัว ข้อพับ แขนและขา ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย สาเหตุหลักเกิดจากการอุดตันของบริเวณต่อมเหงื่อ การใส่เสื้อผ้าโปร่ง เนื้อบางเบา มีการระบายอากาศได้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นภาวะดังกล่าว หากผู้ป่วยมีอาการเป็นมากแนะนำให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

4.กลิ่นตัว

เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในหน้าร้อน โดยพบได้บ่อยที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบหัวนม และอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่อค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อมีการหลั่งเหงื่อออกมามากจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเชื้อแบคทีเรียบริเวณดังกล่าว และเกิดกลิ่นเหม็นตามมา การป้องกัน คือ การอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด ร่วมกับใช้ยาระงับกลิ่นกาย และลดการหลั่งของเหงื่อ รวมกับหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการหลั่งของเหงื่อมากก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการนำสารโบทูลินูม ท็อกซิน หรือที่รู้จักกันในนามของโบท็อกซ์ เพื่อใช้ลดการหลั่งของเหงื่อ ซึ่งจะทำให้กลิ่นตัวลดลง เป็นวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา และมีความปลอดภัย ทั้งนี้ คนไข้ควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินปัญหา และวิธีการักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ผิวหนังและความงาม ชั้น 11 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734 0000 ต่อ 4200, 4254

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (3 )
  • Your Rating