บทความสุขภาพ

ภัยใกล้ตัว…ตะเกียบคร่าชีวิต

Share:

หลายๆ ท่าน เมื่อไปรับประทานอาหารประเภท ปิ้งย่าง ชาบู หมูกะทะ สุกี้หรือจิ้มจุ่ม คงเคยชินกับการใช้ตะเกียบคีบหมูดิบลงหม้อ และนำตะเกียบนั้นคีบอาหารเข้าปาก แต่รู้หรือไม่ พฤติกรรมแบบนี้ อาจนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะเชื้อโรคหรือพยาธิต่าง ๆ จะติดมากับตะเกียบหรือภาชนะอื่น ๆ มาสู่ร่างกาย พฤติกรรมดังกล่าว เปรียบเสมือนท่านรับประทานเนื้อหมูดิบหรือปรุงไม่สุก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ เช่นการติดเชื้อพยาธิ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดหนึ่ง หรือโรคไข้หูดับ นั่นเอง

โรคไข้หูดับ

เกิดจากการติดเชื้อสเตร็พโตค็อคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อจากหมูสู่คน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่รับประทานเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ หลู้ รวมไปถึงผู้ที่ใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารที่สัมผัสกับเนื้อหมูดิบ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังพบว่า การติดเชื้อในผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู การทำงานเกี่ยวกับการชำแหละเนื้อหมู โดยเชื้อจะเข้าตามบาดแผล ตามร่างกาย หรือเยื่อบุตา หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำลาย เป็นต้น

ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หูดับ

จะมีอาการไข้สูง และมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็งเกร็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง บางรายอาจมีอาการการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ การติดเชื้อในข้อ รวมถึงการติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อเส้นประสาทหู ทำให้สูญเสียการได้ยินหรือหูดับ รวมถึงมีปัญหาการทรงตัว และเวียนศีรษะร่วมด้วย

หากท่านมีอาการดังกล่าว หลังจากที่สัมผัสหมู หรือมีประวัติรับประทานเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัย และการให้การรักษาโดยเร็ว ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มักตอบสนองได้ดีและรักษาให้หายขาดได้ โดยระยะเวลาในการให้ยาปฏิชีวนะ ควรให้นานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าหากรักษาล่าช้า ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน

โดยเฉพาะอาการหูดับ ซึ่งแม้จะรักษาหายจากโรคแล้ว แต่อาการหูดับมักจะยังคงอยู่ทำให้เกิดหูหนวกถาวรได้เมื่อรู้ถึงอันตรายจากการรับประทานเนื้อหมูดิบแล้ว เราจึงควรปรุงอาหารให้สุกอยู่เสมอ ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ปรุงอาหารและนำอาหารเข้าปากร่วมกัน แม้กระทั่งง่าย ๆ อย่างการใช้ตะเกียบคีบอาหาร เราก็ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงหมู หรือแล่เนื้อหมูก็ควรสวมถุงมือ สวมรองเท้า และใส่เสื้อผ้าที่รัดกุมก่อนสัมผัสเนื้อหมู หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ รวมถึงการสำรวจบาดแผลตามร่างกายก่อนสัมผัสทุกครั้ง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5400

  • Readers Rating
  • Rated 4.6 stars
    4.6 / 5 (4 )
  • Your Rating