บทความสุขภาพ

ปวดขาจากความผิดปกติของหลัง (ปวดหลังร้าวลงขา)

Share:

อาการปวดขา ที่มีต้นเหตุมาจากการปวดหลัง แล้วร้าวลงไปทำให้ปวดขา เป็นหนึ่งในอาการนำที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อยที่สุด พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบมากที่สุดในช่วงวัยทำงาน บ่อยครั้งที่อาการปวดหลังเกิดขึ้นและทำให้มีอาการปวดขา ซึ่งมักก่อให้เกิดความกังวลใจและความเข้าใจผิดของผู้ป่วยได้ การทราบถึงสาเหตุ การป้องกัน และ การรักษาเบื้องต้น จึงมีความสำคัญต่อการรักษาอาการปวดขามาก

สาเหตุของอาการปวดหลังร้าวไปปวดขาที่พบได้บ่อย ได้แก่

• กล้ามเนื้ออักเสบ เมื่อกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างได้รับการบาดเจ็บจากการใช้งานหรือ อุบัติเหตุ ที่ทำให้กล้ามเนื้อ เกิด การหดเกร็ง ตัวอย่างรุนแรง บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดตึงร้าวลงไปที่สะโพก และปวดขาได้ แต่มักไม่มีอาการปวดขาจนขาชาหรือปวดขาจนขาอ่อนแรงร่วมด้วย

• หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท พบบ่อยที่สุด ในกลุ่มวัยทำงาน เกิดจากการฉีกขาดของเปลือกหมอนรองกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง และหากส่วนเนื้อด้านในปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทซึ่งอยู่ด้านหลังหมอนรองกระดูก ก็จะทำให้มี อาการปวดขา โดยร้าวจากหลังหรือเอวลงมาปวดขาร่วมด้วย
• กระดูกสันหลังเสื่อมพบในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมตามวัย ของข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้มีกระดูกงอกหรือเคลื่อนมาทับเส้นประสาทส่งผลให้มีปวดร้าวจนเกิดอาการปวดขาตามมา

อาการ (ปวดหลังร้าวลงขา)

ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลัง บริเวณเอวร้าวลงมาบริเวณสะโพก และร้าวลงมาปวดขาข้างเดียวหรือทั้งสอง ข้างก็ได้ โดยลักษณะอาการจะเป็นการปวดอยู่ข้างใน ไม่มีจุดที่กดเจ็บชัดเจน อาจมีอาการปวดจนขาชา และปวดจนขาอ่อนแรงร่วมด้วย ระยะแรก อาการมักจะสัมพันธ์กับท่าทางและการใช้งาน เช่น ปวดเฉพาะเมื่อนั่งนาน ยืนนาน ขับรถนาน พอได้นอนพักอาการก็จะดีขึ้น เมื่อมีการกดทับมากขึ้น อาการปวดอาจเพิ่มมากขึ้นจนปวดตลอดเวลา ปวดขามากและไม่สามารถเหยียดขาให้ตรงได้ เพราะจะมีอาการปวดขามาก
อาการอันตรายที่สมควรมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ได้แก่ ปวดรุนแรงมากตอนกลางคืน,มีปวดขา ขาชาและขาอ่อนแรงชัดเจน สังเกตได้ว่าขาลีบเล็กลงเบื่ออาหารและน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจพบได้ในการติดเชื้อวัณโรคและมะเร็งกระดูก หากควบคุมการขับถ่ายไม่ได้หรือปัสสาวะไม่ออก อาจแสดงถึงการกดทับไขสันหลังส่วนปลายซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน เป็นต้น
เมื่อมาพบแพทย์ ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น การถ่ายภาพรังสี (X-ray) ซึ่งจะเห็นเฉพาะกระดูกเท่านั้น ไม่เห็นหมอนรองกระดูกและเส้นประสาท บางกรณีจึงอาจต้องเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan ) หรือเอ๊กซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จึงจะเห็นความผิดปกติ

การรักษาอาการปวดหลังร้าวลงปวดขาจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายปวดได้โดยที่ไม่จำเป็นเป็นต้องได้รับการผ่าตัด การรักษามักเริ่มด้วยการนอนพักช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 2-3 วัน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดและการรับประทานยาแก้ปวด ยาลดอักเสบ ยาลดอาการปวดเส้นประสาท การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังและอาจร่วมกับการทำกายภาพบำบัด โดยใช้เครื่องมือที่โรงพยาบาล เช่น การดึงหลัง การใช้เครื่องไฟฟ้าหรืออัลตร้าซาวด์ และการฝังเข็ม เป็นต้น

หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฉีดยา ลดอาการอักเสบประเภทสเตียรอยด์เข้ารอบๆ เส้นประสาทหรือโพรง ประสาทสันหลัง (Selective Nerve Root Block/Epidural Steroid Injection), การสอดสายเข้าทางก้นกบเพื่อเลาะผังผืด และฉีดยารอบเส้นประสาทได้หลายเส้นพร้อมกัน (Percutaneous Epidural Neurolysis; PEN), การสอดอุปกรณ์ไปที่เส้นประสาทหลังแล้วปล่อยคลื่นความถี่สูงเพื่อระงับความปวด (Medial Branch Rhizotomy) หรือสอดเข้าหมอนรองกระดูกสันหลังแล้วปล่อยคลื่นความร้อนเพื่อทำให้เนื้อหมอนรองเกิดการหดตัว (Nucleoplasty)

การผ่าตัดถือเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่การรักษาด้วยวิธิอื่นๆ ไม่ได้ผลหรือมีอาการรุนแรงมาก การผ่าตัดจะเป็นการตัดชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังที่โป่งยื่นออกมากดทับเส้นประสาทเท่านั้น โดยการผ่าตัดมีหลายวิธี ตั้งแต่การผ่าตัดแบบเปิดแผลตามปกติ, การผ่าตัดแบบแผลเล็กโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วย, หรือการผ่าตัดแบบส่องกล้องโดยไม่จำเป็นต้องวางยาสลบ ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะอาการของผู้ป่วยและความชำนาญของแพทย์ในการเลือกวิธีรักษา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์กระดูกสันหลัง
โรงพยาบาลเวชธานี
โทรศัพท์ 0-2734-0000 ต่อ 5500, 5550

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (1 )
  • Your Rating