บทความสุขภาพ

ผ่าตัดกระดูกสันหลัง เรื่องเล็กจริงหรือ?

Share:

ผ่าตัดกระดูกสันหลัง เรื่องเล็ก เจ็บน้อย พักฟื้นสั้น มีความปลอดภัยสูงจริงหรือ?

มนุษย์เราทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ปวดหลังอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับช่วงอายุและสภาพร่างกายแต่ส่วนใหญ่พออายุมากขึ้นมักจะพบว่าอาการปวดมีความถี่ขึ้นและรุนแรง บางรายอาจจะต้องพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาตามระดับขั้นตอนด้วยวิธีต่างๆ จนไปถึงเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพราะอาการปวดของแต่ละคนมีที่มาแตกต่างกันออกไป

อาการปวดหลังมีสาเหตุมาจากหลายกรณี ดังนี้

  • ปวดหลังเล็กน้อยจากกล้ามเนื้อ อาการนี้เป็นได้ทั่วไป มาจากการยกของหนัก นั่งผิดท่า เป็นต้น
  • ปวดหลังจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือหมอนรองกระดูกแตก
  • ปวดหลังจากกระดูกงอกทับเส้นประสาท หรือช่องกระดูกสันหลังตีบ
  • กลุ่มที่มีอาการปวดแปลกๆ เช่น ตอนกลางวันเวลาทำงานไม่ปวด แต่นอนพักผ่อนเวลากลางคืนกลับปวด กลุ่มนี้บ่งบอกถึงสัญญาณของโรคอันตราย เช่น มะเร็งกระดูก วัณโรคกระดูก เป็นต้น
  • กระดูกสันหลังเคลื่อน ไม่มั่นคง ทำให้มีอาการปวดเวลาขยับตัว

ปวดหลังที่ผิดปกติ

การแยกแยะด้วยตัวเองว่าอาการปวดหลังที่เป็นอยู่มาจากสาเหตุอะไรค่อนข้างยาก วิธีที่ดีที่สุดคือควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้รู้สาเหตุแน่ชัด หากพิจารณาในกลุ่มคนทำงาน หรือคนที่อายุไม่มาก อาการปวดหลังที่พบมักมาจากสาเหตุหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือแตกทับเส้นประสาท เป็นที่มาของอาการปวดหลังร้าวลงขาที่พบบ่อยในคนวัยทำงาน ลักษณะอาการปวด เช่น ก้มลงไปยกของขึ้นมา ปวดเสียวร้าวลงขา ปวดจนต้องปล่อยของที่ถืออยู่ในมือจนตัวจะทรุดลงไป อาการนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าหมอนรองกระดูกแตกและอาจถึงขั้นต้องเข้ารับผ่าตัดกระดูกสันหลัง

โดยทั่วไปลักษณะทางกายภาพของหมอนรองกระดูกจะไม่ทนต่อแรงบิด สังเกตได้จากการยกของหนักในแนวตรงจะไม่ค่อยพบอาการปวดหลังผิดปกติ แต่เมื่อใดที่เอี้ยวตัวไปหยิบของ บางครั้งพบอาการปวดหลังร้าวลงขากะทันหัน นั่นคืออาการหมอนรองกระดูกแตกแล้วเคลื่อนไปทับเส้นประสาทได้ เพราะฉะนั้นใครที่เป็นโรคปวดหลังอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการบิดตัว หรือเอี้ยวตัวยกของ

หมอนรองกระดูกจะมีลักษณะเป็นแผ่น (ถุง หรือ capsule) ข้างในหมอนรองกระดูกจะมีลักษณะคล้ายเจลเหนียวๆ แต่ถ้าแตกหรือชำรุดเสียหาย เจลที่เคลื่อนออกมาภายนอกจะแข็งขึ้น หากไปโดนเส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่งที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ จะทำให้ระบบนั้นผิดปกติไป

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน อาจเปรียบเทียบระบบเส้นประสาทของมนุษย์กับระบบการจ่ายไฟฟ้าได้ดังนี้ ระบบเส้นประสาทเหมือนสายไฟ ต้นทางคือโรงไฟฟ้า ส่งต่อมาที่สายส่งกำลังแรงสูง ปากซอยจะมีหม้อแปลงไฟฟ้า มาจนถึงหน้าบ้านมีมิเตอร์ไฟฟ้า ลักษณะการบาดเจ็บต่อระบบประสาทในแต่ละจุด อาจเปรียบได้กับการระเบิดของจุดจำหน่ายไฟแต่ละจุด เช่น การระเบิดของโรงไฟฟ้าจะทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง เปรียบได้กับการบาดเจ็บที่คอหรือสมองของมนุษย์ ทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัวได้ หรือหม้อแปลงระเบิดทำให้ไฟฟ้าดับทั้งซอย เปรียบได้กับการเป็นอัมพาตทั้งขาหรือระดับเอวลงไป ในกรณีของหมอนรองกระดูกชำรุดเสียหาย เปรียบได้กับมิเตอร์หน้าบ้าน ถ้าไฟดับก็ดับเฉพาะในบ้าน เหมือนกับอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อน ที่อาจทำให้มีอาการกระดกนิ้วเท้าไม่ขึ้น กระดกข้อเท้าไม่ขึ้น เดินลำบากแต่ไม่ถึงขั้นเป็นอัมพาต ซึ่งวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับอาการว่ารุนแรงขนาดไหน หากมีอาการปวดค่อนข้างมากจนถึงขั้นเดินไม่ค่อยได้การผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นการรักษาที่จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ตามระดับ

รู้ได้อย่างไรว่าหมอนรองกระดูกเสียหายมากน้อยแค่ไหน

เบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกายทั่วไปก่อน อย่างไรก็ตามการตรวจโดยดูจากการเอกซเรย์อย่างเดี๋ยวจะมองไม่เห็นละเอียดไปถึงหมอนรองกระดูกหรือเส้นประสาท เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดต้องตรวจด้วยการทำ MRI Scan จึงจะเห็นพยาธิสภาพของหมอนรองกระดูกที่แตก ว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดกระดูกสันหลังหรือไม่

การผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อรักษาหมอนรองกระดูกเคลื่อน

  1. การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบมาตรฐาน ในยุคแรกจะผ่าหลังแบบเปิดแผลลงไปตรงๆ เปิดกล้ามเนื้อหลังออกเป็นช่อง และจำเป็นต้องตัดกระดูกบางส่วนเพื่อจะเข้าถึงหมอนรองกระดูกที่อยู่ด้านหลังของกระดูกสันหลังได้ วิธีนี้มีข้อจำกัด ประการคือแรกทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ ประการที่สองจำเป็นต้องสูญเสียกระดูกบางส่วน และหลังจากผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วจะทำให้ผู้ป่วยปวดหลังต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากมีการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหลังจากการผ่าตัด
  2. การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องจุลทรรศน์ ศัลยแพทย์จะมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อขยายภาพให้ชัดเจนขึ้น ทำให้แผลผ่าตัดกระดูกสันหลังมีขนาดเล็กลง การบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อลดลง แต่ยังคงต้องตัดกระดูกบางส่วนออกอยู่ดี
  3. การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป วิธีนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดและลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของการผ่าตัดแบบมาตรฐาน โดยศัลยแพทย์จะเจาะรูเพื่อสอดกล้องเข้าไปในร่างกาย ซึ่งเลนส์กล้องจะติดอยู่ตรงส่วนปลายของสาย ทำให้เห็นภาพพยาธิสภาพภายในได้ชัดเจน ส่วนการนำเศษหมอนรองกระดูกที่แตกออก ทำได้โดยการสอดเครื่องมือผ่านสายกล้องเข้าไป เพื่อนำเครื่องมือเข้าไปดึงหมอนรองกระดูกที่แตกออกผ่านสายกล้อง โดยไม่ต้องเจาะแผลเพิ่ม และไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ แค่ใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น เพราะฉะนั้นในขณะทำผ่าตัดกระดูกสันหลังผู้ป่วยจะรู้สึกตัว และสามารถบอกแพทย์ได้เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติ หรือเมื่อแพทย์นำหมอนรองกระดูกที่แตกออกมา ผู้ป่วยจะรู้สึกได้ทันทีว่าหายปวด ความปลอดภัยจึงมีมากขึ้น ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลังสั้นลง นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลแค่หนึ่งคืน

ข้อจำกัดของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยวิธีกล้องเอ็นโดสโคป

กรณีที่มีกระดูกงอกมาก จนช่องสำหรับสอดเครื่องมือตีบแคบมาก จะทำให้ไม่สามารถสอดเครื่องมือเข้าไปได้อาจเป็นสาเหตุให้หมอนรองกระดูกแตก แล้วเคลื่อนไปอยู่ที่อื่นได้ อาจต้องพิจารณาใช้วิธีอื่นในการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยวิธีเอ็นโดสโคป

สำหรับศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยวิธีนี้นับว่ามีความแม่นยำมากกว่าวิธีมาตรฐานอื่นๆ ทั่วไป เพราะกล้องที่สอดเข้าไป สามารถส่องให้เห็นพยาธิสภาพภายในได้อย่างชัดเจน สามารถขยาย และโฟกัสได้ มองเห็นชัดถึงเส้นประสาทนั้นๆ ช่วยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทได้ดีกว่าการเปิดแผลปกติ ที่สำคัญไม่ต้องตัดกระดูกออก

โอกาสกลับเป็นซ้ำ

ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่แตกออก จะไม่นำหมอนรองกระดูกที่แตกออกทั้งหมด เพราะต้องคงหมอนรองกระดูกไว้เพื่อให้สามารถทำหน้าที่รองรับข้อกระดูกสันหลังได้ และส่วนที่ยังไม่ชำรุดจะคงสภาพไว้เพื่อให้ทำหน้าที่ต่อไปได้ เพราะฉะนั้นหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังหากกลับไปใช้งานหลังในลักษณะหนักเหมือนเดิม ก็มีโอกาสที่จะแตกซ้ำที่เดิมได้ สำหรับอัตราการกลับเป็นซ้ำในคนที่ผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปมีร้อยละ 4 แต่เมื่อเป็นซ้ำก็สามารถกลับมาผ่าตรงที่เดิมได้อีก แต่ถ้าผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยวิธีมาตรฐานจะมีโอกาสเป็นซ้ำมากกว่า โดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 5-10 เนื่องจากแผลสำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังมาตรฐานจำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่กว่า ดังนั้นการบาดเจ็บจึงมีมากกว่า

หมอนรองกระดูกเคลื่อนไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น ?

จากการศึกษาส่วนใหญ่จะมีอาการแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

1 เดือน ผู้ป่วยจะปวดมาก ลุกไม่ได้

3 เดือน มีอาการปวด พอทนไหว แต่ไม่สามารถทำงานได้

3 ปี ปวดเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ทรมานอยู่อย่างนั้นจนกว่าร่างกายจะสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้

กลุ่มที่ตัดสินใจเข้ารับการรักษาส่วนใหญ่มาจาก 2 กรณี คือ

ไม่ต้องการทรมานกับอาการเจ็บปวด จนทำให้ไม่สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ ก็ควรเข้ารับการรักษา

จำเป็นต้องรักษา เช่น หมอนรองกระดูกแตกและเคลื่อนออกมาทับเส้นประสาทที่ควบคุมระบบขับถ่าย ทำให้กั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ หรือสังเกตว่าร่างกายเริ่มมีแนวโน้มของอาการอ่อนแรง เช่น กระดกนิ้วเท้าหรือข้อเท้าไม่ขึ้น

แม้ปัจจุบันวิวัฒนาการผ่าตัดกระดูกสันหลังจะก้าวหน้าไปมาก มีวิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพียงแค่ฉีดยาชาก็ผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ อย่างไรก็ตามการดูแลและถนอมการใช้งานสุขภาพหลังของตัวเองให้ดี โดยไม่ต้องมาผ่าตัดนับเป็นวิธีที่ดีที่สุด


สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5500, 5550

ผ่าตัดกระดูกสันหลัง เรื่องเล็กจริงหรือ?

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating