บทความสุขภาพ

ปวดข้อบ่อยๆ ใช่รูมาตอยด์หรือไม่

Share:

ข้ออักเสบรูมาตอยด์

ลักษณะ อาการข้ออักเสบ

ข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่เกิดจากแพ้ภูมิตัวเอง มีลักษณะเด่นในเรื่องข้ออักเสบเรื้อรัง แต่ก็มีอาการผิดปกติของระบบอื่นได้ เช่น ปอด ตา หลอดเลือด เส้นประสาท เม็ดโลหิต

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีสาเหตุจากอะไร

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด คาดว่าเกิดจากความเสี่ยงทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัส

จากวารสารการแพทย์ต่างประเทศ มีรายงานผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประมาณ 0.5 – 1% ของประชากรทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่แน่ชัด โดยทั่วไปพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตรา 1:5 – 1:10 และพบมากในหญิงวัยกลางคน

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอาการอย่างไร

อาการจะค่อยเป็นค่อยไป โดยมีอาการปวดตามข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า เริ่มแรกจะปวดไม่มาก มักเป็นตอนกลางคืนและเวลาตื่นนอนตอนเช้า พอนานไปจะปวดมากขึ้น และพบว่าข้อจะบวมมากขึ้นจนเห็นได้ชัด รวมถึงจะเริ่มปวดบริเวณข้อที่ใหญ่ขึ้น เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ข้อไหล่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง

 เริ่มเป็นระยะต้นๆ    ข้อที่มักเป็นรูมาตอยด์

เมื่อเริ่มปวดแรกๆ กินยาแก้ปวดก็พอทุเลา แต่ไม่หาย ต้องกินยาเพิ่มมากขึ้น บางคนซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสารสเตียรอยด์มากินใหม่ๆ จะรู้สึกดีมาก แต่พอผ่านไปสักระยะก็จะช่วยไม่ได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความพิการเร็วกว่าปกติ ซึ่งบางรายความพิการเกิดขึ้นรวดเร็วมาก จนไม่สามารถช่วยตัวเองได้ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอด
เริ่มเป็นระยะต้นๆ ข้อที่มักเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

อาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น

  • ตาแดง
  • หลอดเลือดแดงอักเสบอุดตัน เป็นแผลจะรักษาหายยากมาก
  • เส้นประสาทส่วนปลาย โดยเฉพาะที่ข้อเท้า เป็นอัมพาต กระดกข้อเท้าไม่ได้
  • ปอด มีภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และปอดเป็นพังผืด

อาการข้างเคียงที่เกิดจากข้ออักเสบ

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะวินิจฉัยได้อย่างไร

การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประกอบด้วย

– ประวัติอาการปวดข้อที่เป็นมากกว่า 6 สัปดาห์
– การตรวจร่างกายพบข้ออักเสบชัดเจน โดยเฉพาะ ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า
– การตรวจเลือดหารูมาตอยด์แฟคเตอร์ (Rheumatoid Factor) กับ แอนตี้ซิทรูลิเนตแอนตี้บอดี้ (Anticitrullinated Antibody) เป็นตัวช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรค บางกรณีที่เจาะเลือดตรวจสุขภาพ แล้วพบว่ารูมาตอยด์แฟคเตอร์เป็นบวก และมีอาการปวดข้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรครูมาตอยด์เสมอไป เพราะอาจให้ผลบวกปลอมได้ แม้ในคนปกติที่อายุมากก็สามารถพบผลบวกปลอมได้ถึง 5% จึงต้องทำการวินิจฉัยแยกโรค ซึ่งโรคที่มีอาการปวดข้อคล้ายรูมาตอยด์ ได้แก่

1. โรคติดเชื้อ

  • ไวรัส เช่น หลังจากเป็นหวัด หัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบี จะมีอาการปวดข้อเหมือนรูมาตอยด์ ตรวจเลือดอาจพบรูมาตอยด์แฟคเตอร์เป็นบวกได้เช่นกัน แต่อาการเหล่านี้มักจะหายได้ภายใน 6 สัปดาห์ ซึ่งต่างจากโรครูมาตอยด์ที่จะเป็นเรื้อรัง
  • วัณโรค มีอาการปวดตามข้อคล้ายรูมาตอยด์ได้
  • เชื้อแบคทีเรีย เช่น ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ และจะมีอาการปวดข้อคล้ายรูมาตอยด์ได้

2. ภาวะแพ้ต่างๆ

เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร จะมีอาการปวดตามข้อเหมือนรูมาตอยด์ แต่จะหายเร็วเมื่อหยุดสิ่งที่แพ้

3. โรคแพ้ภูมิตัวเองอื่นๆ

เช่น โรครูปัส (SLE หรือ โรคพุ่มพวง) โรคหนังแข็ง

4. โรคข้ออักเสบจากผลึก

เช่น เก๊าต์ที่เป็นมานาน เก๊าต์เทียมที่เกิดจากผลึกแคลเซียมไพโรฟอตเฟส

5. โรคผิวหนังสะเก็ดเงิน

6. โรคมะเร็ง

โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดโลหิต มะเร็งปอด

7. โรคข้อเสื่อม

โดยเฉพาะข้อนิ้วมือ

8. อาการปวดข้อ

ที่เกิดจากการหยุดใช้ยาสเตียรอยด์กะทันหัน จะมีอาการปวดตามข้อ เป็นไข้คล้ายผู้ป่วยรูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์มีแนวทางการรักษาอยางไรและรักษาให้หายขาดได้หรือไม่

โรครูมาตอยด์ยังไม่มีการรักษาที่ชี้ชัดว่าหายขาด เพียงแต่ทำให้โรคสงบ และปรับยาให้น้อยที่สุดแต่สามารถควบคุมโรคได้ บางรายสามารถหยุดยาได้ แต่ก็อาจกลับมาเป็นอีก

การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีหลักการดังนี้

การรักษาสภาพจิตใจ คือการให้ความรู้เรื่องโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์กับผู้ป่วย ญาติ และผู้ใกล้ชิด โดยให้กำลังใจ และคอยช่วยเหลือในช่วงที่มีอาการปวดมาก บางรายอาจไปพบจิตแพทย์ เพื่อให้คำแนะนำหรือให้ยาลดความเครียด รวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา เพราะเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษานาน

การรักษาทางกาย

รักษาอาการปวด เพราะความปวดเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ โดยให้ยาแก้ปวด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

  • กลุ่มพาราเซตามอล

ข้อดีคือ ราคาไม่แพง ไม่กัดกระเพาะ แต่ต้องควบคุมปริมาณการใช้ เพราะหากมากเกินไปจะเกิดตับอักเสบรุนแรง ส่งผลให้เสียชีวิตได้ และลดอาการปวดได้ไม่มากนัก

  • ยาแก้ปวดและลดการอักเสบ

ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์กับแอสไพริน ยากลุ่มนี้มีหลากหลาย ราคาตั้งแต่ถูกจนแพงมาก แก้ปวดได้ดีกว่าพาราเซตามอล มีฤทธิ์ลดการอักเสบของข้อได้ด้วย แต่จะมีผลต่อกระเพาะอาหาร อาจทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร มีผลต่อตับและไต ทำให้ไตวายและตับอักเสบได้ มีผลต่อยาความดันโลหิต ยาเบาหวาน ยาป้องกันเลือดแข็งตัว และบางชนิดราคาแพง

  • มอร์ฟีนและอนุพันธ์ของมอร์ฟีน

ใช้ในกรณีที่ปวดรุนแรงและยา 2 กลุ่มแรกไม่ได้ผล ข้อดีคือ ไม่กัดกระเพาะ แก้ปวดได้ดี แต่มีผลข้างเคียงคือ ท้องผูก ใช้นานจะเกิดการติดยา ถ้าใช้ปริมาณมากอาจจะกดการหายใจ ซึ่งอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ

ลดการอักเสบของข้อ

โดยใช้ยากลุ่มเดียวกับยาแก้ปวดและลดการอักเสบ กับ ยาในกลุ่มที่ควบคุมให้โรคข้ออักเสบสงบ

  • ยาควบคุมให้โรคสงบ จะมีฤทธิ์กดหรือปรับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีผลข้างเคียงมากกว่ากลุ่มยาแก้ปวด มีดังนี้
  • ยาต้านมาลาเรีย มียาคลอโรควิน กับ ไฮดรอกซีคลอโรควิน ข้อดีคือ ราคาถูก ใช้ได้ผลดีพอสมควรในรายที่ไม่รุนแรง แต่กินนานๆ ผิวจะคล้ำ มีผลต่อตา ต้องตรวจตาเป็นระยะ
  • ยากลุ่มซัลฟา-ซาราฟิน ได้ผลพอๆ กับยาต้านมาลาเรีย ไม่กดภูมิคุ้มกันมาก แต่ขนาดเม็ดใหญ่กินยาก และมีผลต่อตับ ต้องตรวจการทำงานของตับเป็นระยะ
  • ยาเม็ดโทรเทรกเซท เป็นยากดภูมิคุ้มกัน ใช้ได้ผลดีมาก เป็นตัวหลักในกรณีที่ต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกัน สามารถใช้ในระยะยาวได้ แต่มีผลข้างเคียงคือ กดไขกระดูก มีผลต่อตับ ต้องคอยตรวจเลือดเป็นระยะ บางรายที่แพ้อาจจะเกิดปอดอักเสบรุนแรง เป็นแผลทางเดินอาหารรุนแรงจนเสียชีวิตได้ แต่พบน้อย
  • ยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ เช่น เอ็นดรอกแซน อิมมูแลน คลอแรมบูซิ่ว ไม่ค่อยนิยมใช้ เพราะมีผลข้างเคียงพอสมควร ที่สำคัญคือ กดไขกระดูก ติดเชื้อได้ง่าย ระยะยาวอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

กลุ่มยาใหม่ๆ ในปัจจุบัน

เล็ฟฟูโนมาย (อราว่า)

ได้ผลดีมาก แต่ราคาแพง มีผลข้างเคียงพอสมควร กดไขกระดูก ทำให้ไตและตับอักเสบ ต้องตรวจเลือดเป็นระยะ บางรายผิวหนังแพ้รุนแรง

ยากลุ่มต้านสารไซโตครายและต้านเม็ดโลหิตขาว

เป็นยาใหม่ที่สุดในขณะนี้ ให้โดยการฉีด ได้ผลดี ใช้ในกรณีที่ยากลุ่มอื่น ไม่สามารถคุมโรคได้ หรือกรณีที่โรครุนแรง ข้อเสีย ราคาแพงมากและมีผลข้างเคียงพอสมควร อาจทำให้ติดเชื้อวัณโรค อาการแพ้คล้ายกลุ่มโรคแพ้ภูมิคุ้มกัน เช่น เส้นประสาทสันหลังอักเสบ ระยะยาวเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

สารสเตียรอยด์

เป็นยาตัวสุดท้ายที่จะพิจารณา เนื่องจากเป็นยาที่ผสมอยู่ในยาชุด ยาลูกกลอน ยาจีน ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับมาก่อน จึงทำให้มีปัญหาเมื่อมาพบแพทย์ ทำให้การรักษาโรคช้าเกินไป ข้อบ่งชี้ในการใช้สารสเตียรอยด์ในผู้ป่วยรูมาตอยด์ มีกรณีดังต่อไปนี้

  • อาการของโรครุนแรง ถ้าปล่อยไว้อาจมีอันตรายต่อชีวิตหรือพิการ เช่น มีภาวะหลอดเลือดแดงอักเสบ ปอดอักเสบอย่างรุนแรง เส้นประสาทอักเสบ
  • ผู้ป่วยมีภาระรับผิดชอบมาก เช่น ดูแลครอบครัว ต้องรีบกลับไปทำงาน อาจพิจารณาให้ในระยะแรกแล้วรีบถอนออกเร็วที่สุด
  • กรณีที่คนไข้ได้รับสารสเตียรอยด์มาก่อน จากยาชุด จะหยุดเลยไม่ได้ ต้องค่อยๆ ถอนยา หากหยุดทันทีอาจทำให้ช็อคถึงตายได้

ผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์

ติดเชื้อง่ายโดยเฉพาะวัณโรค กระดูกพรุนหักง่าย กล้ามเนื้อลีบอ่อนแรง หน้าบวมเหมือนพระจันทร์ อ้วนฉุลงพุง ผิวหนังหน้าท้องแตกลาย ทำให้มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง เป็นต้อกระจกก่อนวัยอันควร กรณีที่ขาดยาแล้วเกิดภาวะเครียดจะช็อคได้ง่าย ที่สำคัญคือถ้าใช้นานๆ จะหยุดยายากมาก

การป้องกันและความพิการ

ยาไม่สามารถป้องกันความพิการได้ ความพิการเป็นปัญหาของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในระยะยาว การป้องกันที่สำคัญคือการทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยต้องตั้งใจทำอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเกิดแล้วแก้ไขยากมาก จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขความพิการ ดังนี้

  1. การผ่าตัดใส่ข้อเทียม เช่น ข้อหัวเข่า ข้อสะโพก ข้อนิ้วมือ
  2. การผ่าตัดป้องกันเอ็นนิ้วมือขาด
  3. การผ่าตัดแก้ไขเส้นประสาทสันหลังถูกกดทับ ระดับต้นคอ และเส้นประสาทข้อมือ

การดำเนินของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยทั่วไปโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีระยะสงบและกำเริบสลับกันไป ส่วนน้อยที่เป็นและอาจสงบโดยไม่เป็นอีก ส่วนน้อยที่เป็นแล้วรุนแรงพิการในเวลารวดเร็ว ซึ่งผู้ป่วยจะเป็นลักษณะใด ไม่สามารถบอกได้ ต้องติดตามการรักษาโดยใช้ยาให้น้อยที่สุดที่สามารถคุมให้โรคสงบได้ จนกระทั่งหยุดยาได้

สาเหตุการตายของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

  1. จากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เอง พบไม่มาก อาจเป็นกรณีที่โรครุนแรงและมีอวัยวะหลายระบบอักเสบ รวมถึงรายที่กระดูกคอเคลื่อนทับกระดูกสันหลังจนเป็นอัมพาต
  2. ตายจากการใช้ยา พบมากที่สุด โดยติดเชื้อแพร่กระจาย ไตวาย ตับวาย แพ้ยาอย่างรุนแรง ผิวหนังลอกทั้งตัว ไขกระดูกถูกกดทับอย่างรุนแรงจนไม่มีการสร้างเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่เกิดจากการแพ้ภูมิตัวเอง ทำให้มีข้ออักเสบเรื้อรัง การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง สามารถทำให้โรคสงบและป้องกันความพิการได้ หากปล่อยปะละเลยอาจพิการดังรูปได้

สอบถามเพิ่มเติมที่
แผนกอายุรกรรมผู้ป่วยนอก
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 2200, 2204

  • Readers Rating
  • Rated 3.9 stars
    3.9 / 5 (18 )
  • Your Rating