บทความสุขภาพ

เลือดออกในทางเดินอาหาร

Share:

เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นภาวะที่พบบ่อย ต้นตอของอาการมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด อาหาร การขับถ่าย ที่สำคัญอาการเลือดออกในทางเดินอาหารอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้

อาการของเลือดออกในทางเดินอาหาร

ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เลือดออก ดังนี้
  • เลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้น อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือสีน้ำกาแฟ กลุ่มที่อาเจียนออกมาเป็นเลือด สาเหตุสำคัญที่พบบ่อยมักมาจากแผลในกระเพาะอาหาร รองลงมาคือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น และอาจพบว่าหลอดอาหารมีความผิดปกติ เช่น เส้นเลือดดำที่หลอดอาหารโป่งพองแตกออก จึงทำให้มีเลือดออกได้ ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้และบ่งบอกว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น ถ่ายดำ ลักษณะเหลวเหมือนยางมะตอย มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น
  • เลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่าง มีอาการถ่ายเป็นเลือดสดๆ หรืออาจไม่มีอาการชัดเจน แต่มาพบแพทย์ด้วยอาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม เหนื่อยง่าย ซึ่งทางเดินอาหารส่วนล่างคือส่วนที่เป็นลำไส้ใหญ่ มักเกิดกับกลุ่มคนที่อายุมาก สาเหตุอาจมาจากภาวะของถุงลำไส้โป่งพอง ทำให้เกิดเลือดออกได้ง่าย และสิ่งที่อันตรายคืออาจเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจวินิจฉัย

  • พิจารณาจากประวัติของผู้ป่วย
  • การตรวจอุจจาระ ทำในกรณีเลือดออกหรือสงสัยว่าอาจมีเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนล่าง ตรวจอุจจาระเพื่อดูว่ามีเลือดออกในลำไส้จริงหรือไม่ ซึ่งการตรวจอุจจาระส่วนใหญ่จะแนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อหาความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • การส่องกล้องทางเดินอาหาร กรณีเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน จะส่องกล้องผ่านเข้าไปทางปาก สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น หากมีเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่าง จะส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก ตรวจสอบลำไส้ใหญ่ เพื่อดูว่ามีรอยโรคที่ทำให้เลือดออกหรือไม่ ตรงจุดใด สามารถรักษาได้ทันทีหรือไม่

การรักษา

หากพบว่ารอยโรคมีแนวโน้มว่าจะทำให้เลือดออกอีก สามารถให้การรักษาได้ทันที ผ่านการส่องกล้อง ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับรอยโรคที่เป็น ถ้าเป็นแผลและมีลักษณะเป็นเส้นเลือด อาจเริ่มตั้งแต่ฉีดยา ใช้ความร้อนจี้ หรือใช้คลิปหนีบบริเวณที่อาจมีเลือดออกได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสส่องกล้องไม่สำเร็จมีได้บ้าง แต่น้อยกว่าร้อยละ 10 ซึ่งก็มีทางเลือกอื่นคือใช้วิธีเอกซเรย์ดูตำแหน่ง เพื่อเข้าไปทำการอุดรอยที่ทำให้เลือดออก ส่วนการผ่าตัดแพทย์จะพิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้าย กรณีที่ให้การรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล และโรคเป็นรุนแรงมาก
การวินิจฉัยเลือดออกในลำไส้ด้วยวิธีส่องกล้อง
 ทำอย่างไรไม่ให้มีเลือดออกในลำไส้
  • การกินยาแก้ปวด เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจส่งผลไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารได้
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แนะนำให้ส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ควรดื่มน้ำให้ได้ 1-1.5 ลิตรต่อวัน จะช่วยไม่ให้ท้องผูก ถ่ายอุจจาระได้ง่าย หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายจะดึงน้ำจากอุจจาระกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้อุจจาระแข็ง
  • กินอาหารที่มีกากใยสูง และฝึกขับถ่ายอุจจาระเป็นประจำทุกเช้า ควรกินอาหารเช้าหรืออาหารรองท้องเล็กน้อย ก่อนเข้าห้องน้ำสัก 5-10 นาที จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้การบีบตัวของลำไส้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายและเป็นปกติ
คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนักกับการตรวจทางเดินอาหาร โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งแพทย์แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี ดังนั้น ตรวจสุขภาพครั้งต่อไปอย่าลืมตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ป้องกันไว้ รู้ทันก่อนจะมีเลือดออกในทางเดินอาหาร

สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

โทร. 0-2734-0000 ต่อ 2960,2961

  • Readers Rating
  • Rated 3 stars
    3 / 5 (12 )
  • Your Rating