บทความสุขภาพ

ลูกพูดช้า…ผิดปกติหรือไม่

Share:

คุณพ่อคุณแม่บางรายที่มีลูกวัยเล็กๆ หรือวัยกำลังหัดพูด อาจเป็นกังวลว่า ลูกไม่ค่อยพูด พูดช้า หรือพูดไม่เป็นคำ ไม่มีความหมาย เมื่อเทียบกับลูกของเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ทำให้เกิดความกังวลใจว่า อาการที่ลูกพูดช้าเช่นนี้ ผิดปกติหรือไม่

แพทย์หญิงสินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่มาปรึกษาเรื่องของการพูดของลูกว่า บางรายไม่ได้มาในลักษณะของการพูดช้าอย่างเดียว บางครั้งก็มาด้วยเรื่องไม่ยอมทำตามคำสั่งหรือซนมาก มีปัญหาเวลา เล่นกับเพื่อน พอเข้าวัยอนุบาล พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบพัฒนาการของลูกตนเองกับลูกคนอื่น และเริ่มสงสัยว่า ทำไมลูกเราทำไมได้ ทำไมลูกคนอื่นทำได้ อย่างนี้เป็นต้น

สังเกตได้อย่างไรว่าลูกพูดช้าผิดปกติหรือไม่

ภาวะลูกพูดช้านี้ แพทย์จะมีเกณฑ์การวินิจฉัย เพื่อประเมินเบื้องต้นว่าเด็กพูดช้าจริงหรือไม่ หรือเป็นลักษณะที่รอได้ ไม่ถือว่าผิดปกติ แต่โดยส่วนใหญ่ จะดู 2 อย่าง คือ เด็กเข้าใจภาษาหรือไม่ และเด็กใช้ภาษาอย่างไร นั่นคือ เมื่ออายุประมาณ 15 เดือน ต้องสังเกตว่า เด็กมีคำพูดที่มีความหมายบ้างหรือไม่ เช่น หม่ำ ปะ เป็นต้น หรือพยายามสื่อสารโดยการชี้ชวนหรือไม่ ส่วนความเข้าใจภาษา คือ เด็กควรจะเริ่มหันมองหรือชี้ คนหรือสิ่งของเมื่อถูกถาม เช่น “คนไหนแม่” หาก 15 เดือนแล้วยังไม่พูดคำที่มีความหมายเลย ไม่ตอบสนองกับคำถามง่ายๆ แบบนี้ต้องสงสัยแล้วว่าผิดปกติหรือไม่

นอกจากนั้น ในส่วนของแพทย์ การประเมินเด็กจะต้องดูว่ามีพยาธิสภาพอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ต้องตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาอื่น ซึ่งสาเหตุที่อาจพบร่วมและแก้ไขได้คือ การได้ยินบกพร่อง เพราะหากเด็กมีการได้ยินที่บกพร่อง ก็จะทำให้พูดช้าได้เช่นกัน นอกจากนี้การพูดช้ายังอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นๆ อีก เช่น โรคเกี่ยวกับสมอง หรือเด็กที่มีสติปัญญาบกพร่อง กลุ่มนี้อาจมีเรื่องพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อช้าร่วมด้วย รวมถึงเด็กออทิสติก ซึ่งการวินิจฉัยจะต้องตัดปัญหานี้เหล่านี้ออกไปก่อน เพราะเด็กที่มีปัญหาเรื่องภาษาช้าอย่างเดียว อย่างน้อยต้องมีความรู้สึกว่าอยากสื่อสารกับคนอื่น พ่อแม่อาจสังเกตจากภาษาท่าทางที่เด็กพยายามจะสื่อสารด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้เด็กพูดช้า คือการเลี้ยงดู ประการแรกต้องรู้ก่อนว่าใครเป็นคนเลี้ยงดูเด็กเป็นหลัก พ่อแม่มีเวลาช่วงไหน เด็กชอบเล่นอะไร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเลี้ยงดูอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการกระตุ้นให้เกิดปัญหาพูดช้า อาจมีเรื่องอื่นร่วมด้วย แต่เมื่อมีการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีการกระตุ้นเลย เด็กก็จะมีพัฒนาการด้านการพูดช้า เมื่อปรับการเลี้ยงดูเด็กก็จะดีขึ้น

วิธีสังเกตล่วงหน้าว่าลูกจะพูดช้าผิดปกติหรือไม่

โดยธรรมชาติของเด็กตั้งแต่วัย 6- 9 เดือนจะชอบเล่น จ๊ะเอ๋! หรือเล่นหัวเราะกับคนอื่นอยู่แล้ว เริ่มมีความต้องการสื่อสารกับคนอื่นด้วยภาษาท่าทาง ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัย 12-18 เดือน หากยังไม่สามารถชี้หรือใช้ภาษาท่าทางบอกความต้องการ ยังไม่เข้าใจการทักทาย สวัสดี บ๊ายบาย หรือไม่ยอมทำตามคำสั่งง่ายๆ เพราะไม่เข้าใจ ลักษณะนี้พ่อแม่ต้องเริ่มสงสัยแล้วว่าอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

อะไรคือการกระตุ้นการพูดดีที่สุด

แพทย์หญิงสินดี กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญคือคนที่เลี้ยงดูเด็กและใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เพราะในช่วงแรกเด็กจะเลียนแบบคนที่ใกล้ชิดเป็นหลัก พยายามสื่อสารกับลูก โดยที่ไม่ต้องพูดมาก แค่พูดให้สั้นๆ ชัดเจน และอาจสอนให้เด็กพุดผ่านชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าว อาบน้ำ เข้านอน หรือคำนามต่างๆใกล้ตัว เช่น อวัยวะในร่างกาย อุปกรณ์ครัว เครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น

พ่อแม่บางท่านอาจจะคิดว่าการเปิดรายการสำหรับเด็ก ที่มีการสอนเรื่องสี เพลง น่าจะช่วยให้ลูกพูดได้นั้น ถ้าเป็นเด็กที่พูดช้าแล้ว เช่น เกิน 15 เดือน ยังไม่มีคำที่มีความหมายเลย หรือไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ที่มีท่าทาง พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกดูรายการเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว ควรให้เวลาไปเล่นแบบมีปฎิสัมพันธ์ เช่น เล่นบอล เล่นสมมติขายของ หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เพื่อให้เด็กมีจินตนาการ และได้ฟังการใช้ภาษาจากเรามากขึ้น เมื่อเขามีการโต้ตอบ แม้จะไม่มีความหมาย แต่อย่างน้อยเด็กได้เรียนรู้ว่ามีการตอบสนองมาจากพ่อแม่ ทำให้เขามีความกระตือรือร้นที่จะสนทนาหรือพูดคุยกับคนมากขึ้น

การรักษา

ก่อนอื่นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายว่าปกติหรือไม่ มีลักษณะภายนอกเข้ากับกลุ่มอาการของโรคอะไรที่มีผลต่อพัฒนาการด้านการพูดหรือไม่ ถ้าผลออกมาปกติ จะประเมินพัฒนาการทุกด้าน

เรื่องการได้ยิน เป็นอีกสาเหตุที่ต้องแยกออกมาก่อน โดยมีวิธีสังเกตคือ เด็กมักอยากสื่อสารกับคนอื่นๆ แต่จะใช้วิธีจ้องหน้า พยายามมองปาก มองหน้ามากๆ เวลาเล่นอาจจะเล่นเสียงดัง เพราะว่าไม่ได้ยิน จะต่างจากเด็กปากหนักตรงที่มักไม่เข้าใจคำสั่งถ้าเราไม่มีท่าทางประกอบ เรียกชื่อแล้วไม่หัน วิธีการช่วยเหลือคือ ส่งพบแพทย์เฉพาะทางด้านหูคอจมูก เพื่อตรวจการได้ยินและพบนักฝึกพูดต่อไป อาจต้องใส่เครื่องช่วยฟังหรือผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม ขึ้นอยู่กับภาวะที่เด็กเป็นและดุลยพินิจของแพทย์

ส่วนการพูดช้าจากสาเหตุอื่น วิธีการช่วยเหลือขึ้นอยู่กับทักษะที่เด็กบกพร่องไป เช่น ในกรณีของเด็กออทิสติกที่มีทักษะด้านสังคมบกพร่อง ก็ต้องปรับให้เด็กมีปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น ผ่านการฝึกกระตุ้นพัฒนาการหรือกิจกรรมบำบัด หากเด็กมีลักษณะเข้าข่ายสติปัญญาบกพร่องก็ต้องฝึกกระตุ้นพัฒนาการ เช่นเดียวกันและติดตามต่อเนื่องเพื่อให้อย่างน้อยที่สุดเด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้ อย่างไรก็ตาม กรณีของเด็กพูดช้าที่พบได้บ่อยแต่พ่อแม่อาจไม่ได้พามาพบแพทย์ คือ เด็กมักจะเป็นลักษณะเข้าใจภาษาดี ทำตามคำสั่งได้ พยายามสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง แต่ไม่พูด มักเรียกกันว่า เด็กปากหนัก กลุ่มนี้พอถึงจุดหนึ่งที่ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพูดพัฒนาขึ้น จะสามารถพูดได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับเด็กวัยเดียวกัน

แพทย์หญิงสินดี แนะนำคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยกำลังเจริญเติบโตว่า พ่อแม่มักจะเข้าใจผิดมาก เรื่องทีวีทำให้ลูกนิ่งอยู่กับที่ได้ จึงเปิดทีวีให้ลูกดูเพราะคิดว่าลูกมีสมาธิอยู่กับทีวี ความจริงแล้วทั้งทีวี เกมส์ โทรศัพท์มือถือ ภาพบนหน้าจอจะเปลี่ยนตลอด และสมองของเด็กเมื่อดูทีวีหรือเล่นเกมอิเลกทรอนิกส์ ไม่ได้นิ่งเหมือนอย่างที่เห็นอาการภายนอก สมองของเด็กทำงานตลอด ดังนั้น จึงไม่นับว่าการดูทีวีหรือปล่อยให้เด็กอยู่กับเกมส์จะช่วยทำให้เด็กมีสมาธิ แต่เชื่อว่าหากเด็กอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากจนเกินไป มีความเสี่ยงทำให้ เด็กยิ่งพูดช้าเพราะไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับคนอื่น อาจส่งผลต่ออารมณ์ของเด็ก หรือกระตุ้นให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น อีกด้วย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กุมารเวชธรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 4.2 stars
    4.2 / 5 (5 )
  • Your Rating